สังคม

ยังวิกฤต! อุบลฯ แม่น้ำมูลสูงขึ้นต่อเนื่อง-ขอนแก่น พนังดินกั้นเเม่น้ำชีขาด ทะลักท่วมพื้นที่เกษตรเสียหาย

โดย panisa_p

5 ต.ค. 2565

80 views

สถานการณ์น้ำทางภาคอีสานหลายจังหวัดยังน่าห่วง ที่ขอนเเก่น พนังดินกั้นเเม่น้ำชีขาด น้ำทะลักท่วมนาข้าวเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ส่วนที่อุบลราชธานี ระดับน้ำในแม่น้ำมูลยังสูงขึ้นต่อเนื่อง ประชาชนในพื้นที่ 17 อำเภอได้รับผลกระทบ พื้นที่ทำการเกษตรเสียหายเเล้วไม่น้อยกว่า 1 เเสน 5 หมื่นไร่


สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี วันนี้ระดับน้ำในแม่น้ำมูลยังสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยที่สถานี M7 ตรวจวัดระดับน้ำมูลอยู่ที่ 11 เมตร เท่ากับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2562 และสูงกว่าปี 2545 ส่งผลทำให้หลายพื้นที่มีน้ำท่วมสูง ประชาชนหลายร้อยครอบครัวในที่ลุ่มต่ำบางจุด ต้องเร่งเก็บของเเละอพยพกันอีกรอบ หลังระดับน้ำท่วมสูงจนถึงชั้น 2 ของบ้าน


จากการสำรวจครั้งล่าสุด พบว่าที่อุบลราชธานี มีน้ำท่วมเเละส่งผลกระทบเเล้ว มากถึง 17 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ เดชอุดม นาจะหลวย น้ำยืน ทุ่งศรีอุดม น้ำขุ่น ม่วงสามสิบ ตาลสุม เขื่องใน ดอนมดแดง ตระการพืชผล พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ เหล่าเสือโก้ก สำโรง และอำเภอนาเยีย พื้นทีเกษตรเสียหายเเล้วไม่น้อยกว่า 1 เเสน 5 หมื่นไร่


ที่ขอนเเก่น ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ บ้านท่างาม ต.พระบุ อ.พระยืน พบมีน้ำท่วมนาข้าวของชาวบ้าน เสียหายหลายพันไร่ ถนนสายบ้านท่างาม-บ้านขาม ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 60 เซนติเมตร ส่วนคันดินที่ใช้เป็นพนังกั้นเเม่น้ำชี ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่ถนนขาดประมาณ 200 เมตร ถูกน้ำกัดเซาะจนพนังขาด เป็นทางยาวร่วม 100 เมตร ทำให้น้ำไหลทะลัก ท่วมพื้นที่เกษตร ถนน และชุมชน ประชาชนสัญจรลำบาก ส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง


นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น บอกว่า ทางจังหวัดได้รับรายงานแล้ว และสั่งการให้ทางอำเภอประสานไปยังกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และอบต.พระบุ ติดสัญญาณไฟ-เขียนป้ายเตือนให้ชัดเจนเพื่อความปลอดภัย เบื้องต้นได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำสะพานแบริ่ง มาติดตั้งให้ชาวบ้านได้ใช้สัญจรชั่วคราวเเล้ว


ส่วนการระบายน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ผู้ว่าฯขอนแก่น บอกว่า ทางจังหวัดมีมติให้เขื่อนอุบลรัตน์ ปล่อยน้ำเพิ่มได้ หลังมีน้ำไหลเข้าเขื่อนเกินระดับความจุ 100 % โดยการประชุมอนุกรรมการทรัพยากรน้ำ จังหวัดขอนแก่นครั้งล่าสุด มีมติรับทราบแผนการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ดังนี้ วันที่ 5 ตุลาคม ระบาย 35 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน 6 ตุลาคม ระบาย 38 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน 7 ตุลาคม ระบาย 41 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน หลังจากนั้นจะระบายคงที่ วันละ 41 ล้าน ลบ.ม. จนกว่าจะมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลง


ที่มหาสารคาม น้ำที่ล้นสปิลเวย์จากอ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน ไหลทะลักท่วมชุมชน ในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม จุดแรกที่น้ำเข้าก็คือ ซอยถนนนครสวรรค์ ไหลบ่าท่วมชุมชนหลังมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ระดับน้ำยังเพิ่มสูงต่อเนื่อง สูงที่สุดตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 1 เมตร จุดนี้มีบ้านเรือนประชาชน และหอพักจำนวนมาก นักศึกษาบางส่วนต้องเร่งเก็บข้าวของที่จำเป็นออกจากหอพัก


ประชาชนที่นี่บอกว่า ตั้งแต่ย้ายบ้านมาอยู่ตรงนี้ 10 กว่าปี ไม่เคยเจอเหตุการณ์น้ำท่วมมาก่อน แต่จากการสอบถามคนที่เคยอยู่มานาน บอกว่า น้ำท่วมล่าสุดคือปี 2545 ถือเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมในรอบ 20 ปี ของเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม


ส่วนนี่เป็นภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA วันที่ 5 ตุลาคม พบพื้นที่น้ำท่วมในอำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ เเละอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรลุ่มต่ำ บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมฝั่งเเม่น้ำมูล เเละเส้นทางคมนาคม มวลน้ำเหล่านี้จะต่อไปทิศตะวันออกผ่านสุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ เเละอุบลราชธานีก่อนลงสู่เเม่น้ำโขง จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเเละใกล้เคียง เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News