สังคม

รวบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างชื่อ 'กิตติ' ขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง

โดย panisa_p

6 ก.ย. 2565

244 views

ท่านผู้ชม ที่พบเห็นโฆษณาขายสินค้าผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์ โดยใช้ภาพบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือเป็นที่รู้จัก คงต้องตรวจสอบให้ละเอียด ไม่เช่นนั้น จะตกเป็นเหยื่อแก๊งหลอกลวงขายของทางออนไลน์ ซึ่งตำรวจ ปคบ.ได้จับผู้ต้องหาพบเงินหมุนเวียนมากกว่า 600 ล้านบาท


การตัดต่อรูปภาพบุคคลที่มีชื่อเสียง แพทย์หรือสถานพยาบาลชื่อดัง มาใช้ประกอบการโฆษณา เป็นเทคนิคการโฆษณาสินค้าของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ประเภทหนึ่ง และที่เห็นเป็นประจำ มีการแอบอ้างผู้ดำเนินรายการ มีการตัดต่อภาพของคุณกิตติ สิงหาปัด ในรายการข่าว 3 มิติ มาใช้ประกอบการโฆษณา และมีการใช้ข้อความอันเป็นเท็จบรรยายสรรพคุณเกินจริง เช่น ยาปลูกผม เร่งการเจริญเติบโตของเส้นผม 380 เปอร์เซนต์ พร้อมคำบรรยายของแพทย์ และงานวิจัยให้ดูน่าเชื่อถือ เมื่อผู้บริโภคกรอกรายละเอียดสั่งซื้อ


พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับผ่านเว็บไซต์ จากนั้นฝ่ายขาย ซึ่งทำงานในสักษณะ Call Center ก็ตอบกลับพร้อมชักชวนให้กดสั่งซื้อจะลดเกินกว่า 50 เปอร์เซนต์ พูดโน้มน้าวถึงสรรพคุณผลิตภัณฑ์ให้หลงเชื่อ เมื่อซื้อมาใช้แล้วพบว่าสินค้ามิได้มีสรรพคุณตามที่โฆษณาหลอกลวง


ล่าสุดตำรวจ กก 4 ปคบ.ได้ตรวจค้นบริษัทขายสินค้าในรูปแบบคอลเซ็นเตอร์ ผ่านช่องทางออนไลน์ ตอบกลับลูกค้าเพื่อบรรยายสรรพคุณเกินจริง มีนายธิติพัทธ์ ถือหุ้น มีหน้าที่ให้การบริหารจัดการ และ น.ส.อิสรีย์ ซึ่งเป็นน้องสาว ดูแลด้านการเงินของบริษัท


ส่วนการโฆษณาสินค้า บริษัทได้ว่าจ้างบริษัทในประเทศเวียดนาม สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร่วมกันสร้างข้อความอันเป็นเท็จในการโฆษณาขายสินค้า โดยยิงแอดโฆษณาในโซเชียล ตัดต่อรูปภาพบุคคลที่มีชื่อเสียง มาใช้ประกอบการโฆษณา และมีการจัดทำผู้ซื้อสินค้าและผู้รีวิวปลอมขึ้นมา เพื่อให้ผู้บริโภคหลงเชื่อในสรรพคุณ


โดยตำรวจได้ออกหมายจับผู้ต้องหา 4 คนนายธิติพัทธฺ น.ส.อิสรีย์ นายพิศิษฐ์ นายมนัสศิริ ซึ่งทั้งหมดได้ว่าจ้างให้โรงงานรับจ้างผลิตเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นโรงงานพบผลิตภัณฑ์ทั้งน้ำยาลดน้ำหนัก เครื่องสำอาง จำนวน 33 รายการ มูลค่าประมาณ 24 ล้านบาท


จากนั้นได้จับกุมนายมนัสศิริ และนายธิติพัทธ์ ได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ขณะกำลังเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ พบผู้ต้องหามีรายได้จากการหลอกหลวงขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ 219 ล้านบาท มีการจ่ายเงินค่าโฆษณาไปยังต่างประเทศ (เวียดนาม, สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) รวมเป็นเงินจำนวน 188 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทยังมี เงินหมุนเวียนทั้งสิ้นมากกว่า 660 ล้านบาท


จากการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์ผ่านการขออนุญาตจาก อย. แต่ได้นำมาโฆษณาสรรพคุณเกินจริง โดยใช้ภาพผู้มีชื่อเสียง ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม โดยต้องนำผลิตภัณฑ์สินค้า ไปตรวจสอบว่ามีผสมวัตถุอันตรายที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่


ซึ่งเจ้าหน้าที่เตือน อย่าสั่งซื้อผลิตภัณฑ์มาใช้โดยหวังผลการรักษาโรค เช่น รักษาเบาหวาน, รักษาเชื้อรา, รักษาหลอดเลือด, รักษาต่อมลูกหมาก, ถ่ายพยาธิ, เพิ่มสมรรถภาพ, แก้ปัญหากรได้ยิน ลดริ้วรอยย้อนวัย เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันจะเสียเงินและเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์เฉพาะทางได้

คุณอาจสนใจ