สังคม

ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องชาวบ้าน 8 จังหวัดริมโขง คดีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 'เขื่อนไซยะบุรี'

โดย panisa_p

17 ส.ค. 2565

118 views

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง คดีที่ชาวบ้าน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงฟ้องให้ยกเลิกสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ในเขตประเทศลาว โดยศาล ระบุว่าไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าสัญญาซื้อไฟฟ้าดังกล่าว ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมแม่น้ำโขง


ขณะที่ชาวบ้านน้อมรับคำตัดสินของศาลและยืนยันว่าผลกระทบที่เกิดกับแม่น้ำโขงมาไกลเกินกว่าที่จะหยุดต่อสู้ จากนี้จะศึกษาคำพิพากษาอย่างละเอียด เพื่อหามาตรการฟ้องทางแพ่ง กรณีที่เขื่อนทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนลุ่มน้ำโขง


การผันผวน และเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่หลากหลายของแม่น้ำโขง เช่น ภาวะน้ำท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน อย่างไม่เคยเป็น หนึ่งในปัจจัยหลักที่ประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ยื่นฟ้องให้ยกเลิกเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนน้ำโขงในประเทศลาว


ที่กลุ่มผู้ฟ้องระบุว่า เป็นต้นเหตุของผลกระทบ แต่เพราะเขื่อนสร้างอยู่นอกอธิปไตยของไทย การฟ้องจึงมุ่งไปที่การทำสัญญาซื้อขายระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่มีต่อบริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ เพราะเห็นว่าสัญญาซื้อขายเป็นสิ่งผูกพันธ์ให้เกิดการสร้างเขื่อน


ซึ่งผู้ถูกฟ้องทั้ง 5 คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี โดยฟ้องในประเด็นว่าร่วมกันดำเนินโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม โดยเฉพาะผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ที่เครือข่ายมองว่าจำเป็นต้องฟ้องเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดกับแม่น้ำโขง


และที่สุดแล้วศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้องการอุทธรณ์ของเครือข่ายชาวบ้าน โดยศาลระบุว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าสัญญาตามโครงการนั้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนรุนแรง ผู้ถูกฟ้องจึงไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 57 แห่งรัฐธรรมนูญ


คำพิพากษายังระบุว่า ไม่มีข้อกำหนดให้โครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน ผู้ถูกฟ้องจึงไม่ต้องดำเนินการรวมถึงระบุว่าผู้ฟ้องทั้ง 37 คน ไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับสัญญาซื้อขาย ตามที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยไว้แล้ว จึงพิพากษายืน


เครือข่ายลุ่มน้ำโขงระบุว่า ยอมรับคำตัดสินของศาลหลังจากสู้มา 10 ปี แต่เห็นว่าคำตัดสินดังกล่าวมาจากมุมมองที่แตกต่างกันกับผู้ได้รับผลกระทบ


จึงจะเดินหน้าหาช่องทางฟ้องแพ่ง โดยระบุว่าผลกระทบที่เกิดกับระบบนิเวศน์ในลำน้ำโขงมากเกินกว่าจะยอมรับได้ อีกทั้งทั้งยังมีอีกหลายเขื่อนที่จะสร้างตามมา หากไม่มาตรการป้องกันและเยียวยา คาดว่าจะเกิดผลกระทบต่อแม่น้ำโขงอย่างรุนแรง

คุณอาจสนใจ

Related News