สังคม

'นวนุรักษ์' แพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ ฐานข้อมูลความหลากหลายทางธรรมชาติ

โดย panwilai_c

13 ส.ค. 2565

152 views

นวนุรักษ์ เป็นแพลตฟอร์มจัดเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม รูปแบบใหม่ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. นำมาใช้ร่วมกับนักวิจัยและหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อจัดทำฐานข้อมูล โดยวันนี้เรามีตัวอย่างของอุทธยานธรณีโลกสตูล ที่ประสบความสำเร็จจากการต่อยอด หลังนำข้อมูลความหลากหลายนี้ มาสร้างเรื่องราวให้กับภาคการท่องเที่ยว สังคม และสิ่งแวดล้อม จากจุดเด่นของพื้นที่ที่เคยเป็นมหาสมุทรยุคโบราณมาก่อน



มัคคุเทศน์ท้องถิ่น พาทีมข่าว 3 มิติ เข้าสำรวจภายในถ้ำทะลุ ในตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล ถ้ำแห่งนี้เป็นถ้ำโบราณอายุกว่า 500 ล้านปี จากยุคพาเลโอโซอิก ซึ่งภายในเต็มไปด้วยซากฟอสซิลสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์มากมาย ทั้งฟอสซิล นอติลอยด์ แกสโตพอต และแบรคิโอพอติที่เป็นบรรพบุรษของปลาหมึก และ หอย



ขณะที่เมื่อพ้นช่วงถ้ำออกมา เราก็จะพบกับพื้นที่โล่งจากการยุบตัวของเพดานถ้ำจนเกิดเป็นระบบนิเวศแบบปิดที่มีความเฉพาะ ทั้งพืชและ สัตว์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น เห็ดแชมเปญ และพืชโบราณ ที่ต่างจากระบบป่าภายนอก



โดยพื้นที่แห่งนี้ได้รับการอนุมัติจากยูเนสโกให้เป็นอุทยานธรณีโลกเมื่อปี 2561 และมีการจัดทำการสำรวจความหลากหลายของพื้นที่เรื่อยมา ซึ่งพบว่าในอดีตจังหวัดสตูลเคยเป็นมหาสมุทรโบราณ ก่อนที่สภาพภูมิศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงไป



ไม่ใช่แค่ที่ถ้ำทะลุ แต่อดีตมหาสมุทรโบราณแห่งนี้ยังมีความน่าสนใจของถ้ำอีกหลายแห่ง เช่น ถ้ำเล สเตโกโลดอน ที่มีหินงอกหินย้อย ซึ่งยังเกิดกระบวนการทางเคมีต่อเนื่อง ไปจนกระทั่งฟอสซิลช้างสเตโกโลดอน และสัตว์ดึกดำบรรพ์อีกมากมาย



ระบบนิเวศที่มีความหลากหลายของจังหวัดสตูล ทำให้นักวิจัยมองว่าพื้นที่แห่งนี้มีศักยภาพทั้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม



สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.จึงได้สร้างแพลตฟอร์ม นวนุรักษ์ให้นักวิจัยได้จัดเก็บองค์ความรู้เหล่านี้เข้ามายังฐานข้อมูล เพื่อให้ชุมชนและนักวิจัยนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ ทั้งการนำข้อมูลเข้าบันทึกและดึงข้อมูลมาใช้ และประยุกต์เข้ากับสภาพสังคมของพื้นที่



ลวดลายสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์บนผ้าบาติก และ การใช้ไม้ท้องถิ่นมาย้อมผ้า คือตัวอย่างการสร้างเรื่องราวอย่างหนึ่ง ที่ต่อยอดจากนวนุรักษ์ ในรูปแบบเรื่องเล่าสื่อความหมาย และการใช้ประโยชน์จากวัสดุเชิงพื้นที่มาสร้างมูลค่า ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากร



ปัจจุบันมีข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมในฐานข้อมูลนวนุรักษ์แล้วกว่า 25,000 ชุด จากแหล่งข้อมูล 149 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถบันทึกข้อมูลได้ทั้งรายละเอียด ภาพ คลิป และเสียง บนเว็บไซต์ navanurak.in.th ซึ่งหากสนใจพื้นที่ของจังหวัดสตูลก็สามารถพิมพ์ satungeopark ต่อไปได้ทันที

คุณอาจสนใจ

Related News