สังคม

เร่งรื้อถอน คานสะพานกลับรถ ถ.พระราม 2 ที่เหลือ คาดเสร็จทันพรุ่งนี้เช้า

โดย paweena_c

2 ส.ค. 2565

40 views

ความคืบหน้าเหตุการณ์ คานสะพานกลับรถ ที่ถนนพระราม 2 อำเภอเมือง สมุทรสาคร พังระหว่างซ่อมแซม แล้วทับรถยนต์ จนมีผู้เสียชีวิต 2 คน เมื่อสองวันก่อน ล่าสุดกรมทางหลวงตัดสินใจรื้อคานสะพานที่เหลือทั้ง 4 ตัว เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดอันตราย และเร่งเปิดพื้นใช้ถนน ให้ทันพรุ่งนี้เช้า ขณะอธิบดีกรมทางหลวงระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่เหตุการณ์ เกิดจากการรื้อถอนผิดขั้นตอน ถือเป็นความประมาท หรือไม่ระวังให้มากพอ



นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ลงพื้นที่ถนนพระราม2 เพื่อควบคุมการรื้อคานสะพานกลับรถ 4 ตัว ที่ยังเหลือบนสะพานนี้ หลังจากเมื่อ2วันก่อน มีคานสะพาน 1 ตัวพร้อมแบริเออร์กั้นขอบสะพานเพื่อกันรถตก หรือเรียกว่า พาราเฟต ได้พังลงทับรถยนต์ ทำให้พนักงานราชการของกรมทางหลวงที่กำลังทำงาน และประชาชนที่สัญจรผ่านขณะเกิดเหตุ เสียชีวิตรวม 2 คน



การรื้อถอนคานที่เหลือทั้ง 4 ตัว จะเริ่มด้วยการทำตัวยึดคานให้แน่น เพื่อให้เครนยกคานออกไปให้ปลอดภัย โดยคานทั้ง 4 ตัว หนักตัวละประมาณ 14 ตัว ยาวประมาณ 15 เมตร คาดว่าจะใช้เวลาคืนนี้ทั้งคืนเพื่อยกออก และตรวจสอบความปลอดภัยรอบด้าน เพื่อให้ทันเปิดการจราจรบนถนนพระราม 2 ในเช้าวันพรุ่งนี้



อธิบดีกรมทางหลวงระบุว่า เมื่อยกคานออก จะทำให้สะพานมีจุดขาดระหว่างสองฝั่ง โดยยืนยันว่าไม่เกิดอันตรายต่อรถที่สัญจรบนถนน และหลังจากนั้นสภาวิศวกร รวมถึงวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย จะตรวจสอบความแข็งแรงของสะพานนี้อย่างละเอียด ตามหลักวิศวกรรม หากโครงสร้างเดิมแข็งแรงพอก็จะปรับปรุง โดยอาจเปลี่ยนช่วงที่ซ่อมแซมนี้เป็นโครงสร้างเหล้ก แต่หากไม่ปลอดภัยตั้งทุบทิ้ง รวมถึงจะตรวจสอบสะพานลอยเกือกม้า บนถนนพระราม 2 อีก 16 ตัว ที่มีอายุใช้งานมานาน เพื่อให้มั่นใจเรื่องความปลอดภัย



นายสราวุธ ยังระบุถึงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า เหตุการณ์นี้มีความเป็นไปได้เช่นกันที่เกิดจากการรื้อข้ามขั้นตอน นั่นคือมีการรื้อพื้นสะพานออกก่อน โดยที่ไม่รื้อแบริเออร์กั้นขอบทางที่ใช้ป้องกันรถตกสะพาน หรือเรียกว่าพาราเฟต ซึ่งพาราเฟตนี้ ยึดติดอยู่กับคานตัวที่5 ซึ่งก็คือคานที่พังลง จึงมีความเป็นไปได้เช่นกันว่า อาจไม่ใช่การทรุดตัว แต่เป็นการพลิกแล้วร่วงลงพื้น เพราะเมื่อแผ่นพื้นถูกรื้อออกหมด โดยไม่รื้อแบริเออร์ออกก่อน ก็ทำให้น้ำหนักทั้งหมดตกมาอยู่ที่คานตัวที่ 5



อย่างไรก็ตาม การซ่อมแซมช่วงโค้งที่อยู่ติดกันและทำแล้วเสร็จ ก็ใช้วิธีการเดียวกัน คือไม่ได้รื้อพาราเฟต หรือแบริเออร์ออกก่อน แต่ก็ไม่เกิดปัญหาขึ้น ทำให้อธิบดีกรมทางหลวงระบุว่า ข้อเท็จจริงว่าสะเพร่าหรือไม่ ต้องอาศัยการสอบสวนละเอียด เพราะมีหลักฐานและขั้นตอนการทำงานอยู่ แต่ในมุมมองส่วนตัวเห็นว่า เป็นความประมาท หรือไม่ระวังให้มากพอ



อธิบดีกรมทางหลวง ยังระบุว่า เพิ่งทราบข้อมูลจากสื่อมวลชน กรณีมีผู้ตั้งข้อสังเกตุว่าระหว่างการทำงานคืนที่เกิดเหตุ ไม่มีวิศวกรทวิชาชีพอยู่เพื่อควบคุมการทำงาน โดยระบุว่า จะข้อตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน และระบุว่าขณะเกิดเหตุ ไม่ใช่ช่วงของการรื้อปูน หรือเทปูน แต่เป็นช่วงการเดินเก็บเศษวัสดุ และตรวจความเรียบร้อย เพื่อเตรียมการเทปูน แต่ก็ยอมรับว่าทุกขั้นตอนต้องมีวิศวกรอยู่ควบคุมด้วย



และกรณีนี้ ซึ่งเป็นการทำงานของกรมทางหลวงเอง หากผลการสอบออกมาว่าเป็นความประมาทร้ายแรง ทำให้งบประมาณของรัฐเสียหาย ผู้เกี่ยวข้องก็ต้องชดใช้ งบประมาณส่วนที่เสียหายด้วย.



คุณอาจสนใจ

Related News