สังคม

สำรวจภูเขาหินอ่อน อ.ปากช่อง หลังชาวบ้านค้านเปิดเหมือง หวั่นกระทบพื้นที่มรดกโลก

โดย panwilai_c

13 ก.ค. 2565

181 views

กรณีชาวตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ไปร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็น กรณีมีเอกชนขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอ่อน ในตำบลหมูสี ซึ่งชาวบ้านเกือบทั้งหมดในวันนี้แสดงเห็นคัดค้านการทำเหมือง วันนี้ข่าว 3 มิติลงไปสำรวจพื้นที่ ทั้งจุดที่จะขอทำเหมือง และจุดที่เคยทำเหมืองลักษณะคล้ายกันเมื่อกว่า 20 ปี ก่อน พบว่าเสียงสะท้อนส่วนใหญ่ต่างกังวงผลกระทบที่จะเกิดกับเมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างเขาใหญ่ อาชีพเลี้ยงสัตว์ ชาวสวน รวมถึงการเป็นมรดกโลกด้วย



ป้ายที่ติดตามแยกต่างๆในถนน ชุมชน และบ้านเรือน ในพื้นที่ 4 หมู่บ้านของตำบลหมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นการแสดงออกถึงจุดยืนของกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้เกิดเหมืองหินอ่อนขึ้นในตำบลนี้ และจุดยืนคัดค้านเหมืองก็ถูกแสดงออกชัดเจนในระหว่างเวทีรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรแปลงนี้ เมื่อวันเสาร์ที่ 9 ที่ผ่านมา



สภาพธรรมชาติที่ยังสวยงาม เป็นมรดกและเป็นแหล่งรายได้ของคนท้องถิ่น ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในความกังวลของคนบ้านท่าช้างเหนือ เพราะที่นี่มีน้ำผุดจากใต้ดิน เป็นลำน้ำธรรมชาติที่ไปเติมลำตะคองตลอดทั้งปี จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ คนที่นี่กังวลว่าหากมีเหมืองหินอ่อนและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ก็จะกระทบต่อธรรมชาติและคนที่นี่ได้



เอกสารที่บริษัทที่ปรึกษาของเอกชนผู้ยื่นขอเปิดเหมืองใช้เผยแพร่ในรับฟังความคิดเห็นระบุว่านายฉัตรเทพ จุโลทัย เป็นผู้ขอประทานบัตรคำขอที่ 4/2556 เพื่อทำเหมืองหินอ่อน เนื้อที่รวม 202 ไร่ / 1 งาน 58 ตารางวา เป็นการขอทับประทานบัตรเดิมของนายฉลาด จุโลทัย ซึ่งเป็นบิดาที่เคยทำเหมืองหินอ่อนมาก่อน



ข้อมูลสำคัญในเอกสาร ระบุว่าจะทำเหมืองด้วยวิธีตัดเจาะแล้วยกหินอ่อน ออกทั้งมาก้อน ไม่ใช่วิธีระเบิดภูเขาให้ก้อนหินพังลง และระบุว่าวิธีนี้จะไม่สร้างฝุ่นมลพิษ เพราะใช้น้ำเป็นตัวกลางในการหล่อลื่น ระบายความร้อนจากการขัดสี และน้ำจะควบคุมฝุ่นละอองด้วย



ข่าว 3 มิติ ลงสำรวจพื้นที่พบว่าภูเขาลูกดังกล่าว ยังมีร่องรอยของการทำเหมืองหินอ่อน ด้วยวิธีตัดเจาะ เห็นแผ่นก้อนหินอ่อนถูกตัดออกเป็นหน้าฉาก ขณะที่สภาพอื่นๆที่อยู่ในเขตประทานบัตร มีต้นไม้เกิดขึ้นรกทึบ



สภาพป่าเกิดใหม่ที่สมบูรณ์ขึ้น บวกกับสภาพแวดล้อมทั้งหมดของตำบลหมูสี เปลี่ยนไปสู่เมืองที่เติบโตด้วยการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นกันชนให้เขาใหญ่ที่เป็นมรดกโลก เป็นแหล่งเพาะปลูกและอาหาร ทำให้ชาวบ้านคนหนึ่ง อยู่ในเขตได้รับผลกระทบประกาศจุดยืนชัดเจนที่จะคัดค้านเหมืองหินอ่อนนี้



หนึ่งในชาวตำบลหมูสี ที่เคยได้รับผลกระทบชัดเจนจากเหมืองหินอ่อนในอดีต คืออาชีพโคนม เขาบอกว่า ในอดีตที่เคยมีเหมืองหินอ่อนกระจายกันอยู่ใกล้ลำตะคอง ทำให้น้ำปนเปื้อน และเมื่อนำมาเลี้ยงสัตว์ก็มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ของโคนม เขาไม่ได้หมายความว่าเหมืองที่เกิดใหม่จะสร้างปัญหาแบบนั้น แต่ประสบการณ์ในอดีต ทำให้เขาไม่อาจยอมรับเหมืองที่จะเกิดใหม่ได้



การทำเหมืองหินอ่อนในตำบลหมูสี ที่มี 9 แห่ง เคยมีทั้งแบบระเบิดภูเขา และแบบตัดเป็นแท่งแล้วยกหินออกไปโรงแต่งแร่ แต่ทั้งหมดก็ยุติไปหมด บางรายทำกิจการไม่ครบอายุสัมปทานด้วยซ้ำ เพราะไม่คุ้มทุน แต่อะไรคือเหตุผลที่ชาวบ้านมองว่า อาจเป็นสาเหตุให้เกิดเหมืองหินอ่อนแห่งใหม่ขึ้นอีก

คุณอาจสนใจ

Related News