เลือกตั้งและการเมือง

สุดจะยื้อ! รัฐสภาล่ม 'ชวน' ปิดการประชุมวันแรก หลังส.ส.หายกว่า 100 คน

โดย parichat_p

5 ก.ค. 2565

179 views

การประชุมรัฐสภาพิจารณากฎหมายประกอบการเลือกตั้งล่ม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เกิดเหตุวุ่นกรรมาธิการเสนอให้ใช้หมายเลขสมัครส.ส. แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อเลขเดียวกันจนทำให้ต้องพักเบรก


นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา สั่งปิดการประชุมในเวลา 19.22 น. หลังจากพบว่า ผลการแสดงตนก่อนลงมติ อาจไม่ครบองค์ประชุม โดยนายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะวิปรัฐบาล ปรึกษาต่อที่ประชุมว่า ขอให้ปิดประชุมและกลับมาพิจารณาต่อวันพรุ่งนี้ แต่นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปฝ่ายค้าน คัดค้าน


โดยระบุว่า ฝ่ายค้านเตรียมพร้อมทำงานในการพิจารณาร่างกฎหมายที่สำคัญ จะรอดูผลการแสดงตนของเพื่อนสมาชิก ทำให้นายชวน กล่าวว่า เวลาไม่มีปัญหา แต่อาจรอนาน เพราะยังขาดอีกว่า 100 คน หากสมาชิกปรารถนาจะปิดประชุมก็ปิดการประชุม


การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวาระที่ 2 และ 3 ได้ใช้เวลาพิจารณาในวันแรก นานกว่า 7 ชั่วโมง ผ่านการพิจารณาไปได้ 8 มาตรา ยังเหลืออีก 29 มาตรา โดยระหว่างการพิจารณามาตรา 6 เรื่องการกำหนดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดพึงมี นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา และ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะกรรมาธิการ อภิปรายเสนอเพื่อเติม ให้มาตรา 6 วรรค 3 เรื่องการให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ


ควรเป็นหมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนจำได้ง่าย ป้องกันความสับสน จึงไม่ควรให้เป็นบัตรคนละเบอร์ ประชาชนได้ประโยชน์ ส่วนกกต.จัดการเลือกตั้งได้ง่าย แต่ปรากฏว่า มีผู้อภิปรายขอหารือว่า ไม่สามารถอภิปรายได้ เพราะเนื้อหาเรื่องบัตรสองใบ คนละเบอร์ไม่ได้มีเนื้อหาอยู่ในมาตราใดของร่างกฎหมายฉบับนี้เลย



นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุม แจ้งว่า ประธาน กรรมาธิการมีการทำรายงานมาไม่ครบถ้วน เพราะไม่มีการเขียนเนื้อหาที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยสงวนคำแปรญัตติขอแก้ไขไว้ ทำให้เนื้อหาดังกล่าวหายไปจากร่างกฎหมาย จึงมีการขอพักประชุม 15 นาที ไปแก้ปัญหาแต่ปรากฎว่าการพักการประชุมนั้นใช้เวลาไปประมาณชั่วโมงเศษ


ก่อนกลับมาเริ่มประชุมอีกครั้ง โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม จนเกิดความวุ่นวานและต้องสั่งปิดการประชุม


ส่วนประเด็นที่ยังจับตาคือการพิจารณาสูตรคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าจะใช้สูตรหาร 100 หรือ 500 โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่า การพิจารณาประเด็นสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่มาการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ที่ใช้สูตรคำนวณ เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2554 และ 2540


ซึ่งที่ประชุมวิปรัฐบาลได้เห็นชอบตามมติของคณะกรรมาธิการฯ คือ ร่างที่ผ่านการพิจารณาจากกกต.แล้ว ในการใช้สูตรหาร 100 ซึ่งพรรคพลังประชารัฐก็ยึดหลักตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ไว้ ว่าให้เป็นไปตามแนวทางของกรรมาธิการ



ส่วนกรณีมีข่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์บางส่วนจะเลือกการหาร 500 ก็เป็นเรื่องภายในแต่ละพรรค และยังเชื่อมั่นว่าหากหาร 100 ไม่ห่วงว่าจะเป็นประโยชน์ให้พรรคเพื่อไทยชนะแบบแลนด์สไลด์ได้


นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ยืนยันว่า พรรคก้าวไกลสนับสนุน สูตรหาร 100 ตามมติวิปฝ่ายค้าน แต่ต้องมีรายละเอียดในวิธีการคิดคำนวณ เพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่เกิด ส.ส.ปัดเศษ ซึ่งจะได้ระบบคู่ขนานแบบปี 2540 อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ พร้อมขอให้รัฐสภาสนับสนุนการแปรญัตติของนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.ก้าวไกล ที่แปรญัตติเพื่อไม่ให้การเมืองมีปัญหาอย่างที่ผ่านมา หลังการปล่อยให้ กกต. ตีความวิธีคิดคำนวณเอง

คุณอาจสนใจ

Related News