สังคม

แนวทางพัฒนา “ดอยตุง” พลิกฟื้นผืนป่าเขาหัวโล้น สู่พื้นที่กักเก็บคาร์บอน

โดย pattraporn_a

27 มิ.ย. 2565

115 views

สำรวจข้อมูลคาร์บอนเครดิต พื้นที่ดอยตุง ที่ 35 ปี พลิกฟื้นผืนป่า จากเขาหัวโห้น จนมีป่ากลับมากว่า 90 เปอร์เซ็นต์


เมื่อราวปี 2530 พื้นที่ดอยตุงในจังหวัดเชียงรายกลายเป็นเขาหัวโล้นและไร่ฝิ่นจำนวนมาก จนเหลือพื้นที่ผืนป่าธรรมชาติเพียง 28% เท่านั้น มาวันนี้ผ่านมากว่า 35 ปี ความเขียวชอุ่มกลับคืนอีกครั้งด้วยดอยตุงโมเดล ที่เพิ่มผืนป่ามากลับมาเป็นกว่า 90% ซึ่งขณะนี้อยู่หว่างการสำรวจข้อมูลปริมาณการกักเก็บคาร์บอน มาคำนวณเป็นค่าคาร์บอนเครดิต เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อในอนาคต


พื้นที่เพาะปลูกแมคคาเดเมีย แปลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่กว่า 100,000 ไร่ บนดอยตุง จังหวัดเชียงราย ถูกกำหนดให้เป็นแปลงป่าเศรษฐกิจตามโครงการดอยตุงโมเดล ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมชูปถัมภ์ เพื่อเข้ามาแทนที่การปลูกฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอยในอดีต ซึ่งพื้นที่ป่าเศรฐกิจในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนราว 20% เท่านั้น ยังมีพื้นที่สีเขียวอื่นๆ เกิดขึ้นรวมแล้วกว่า 70,000 ไร่ ในปัจจุบัน


ดร.ธนพงศ์ ดวงมณี ผู้อำนวยการด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงระบุว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจควบคู่กับการอนุรักษ์ โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมผ่านป่าเศรษฐกิจที่ทำให้พวกเขามีรายได้ จึงเกิดการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนตามมา


สัดส่วนป่าในปัจจุบันของพื้นที่ดอยตุง แยกออกมาเป็นพื้นที่ 68,291 ไร่ แบ่งเป็นป่า 15 ชั้น ทั้งป่าธรรมชาติ ตามลักษณะเดิม เช่น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ป่าสนเขา และอื่นๆ ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ 60% ที่เหลือเป็นป่าเศรษฐกิจ 20% ป่าใช้สอย 10% และที่ดินทำกินอีก 10% ต่างจากเดิมในปี 2530 ที่มีสัดส่วนไร่เลื่อนลอยมากถึง 54%


ขณะที่ในปี 2560 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้จัดทำข้อมูลพื้นที่กักเก็บปริมาณคาร์บอน หรือคาร์บอนเครดิต ของพื้นที่ดอยตุง เสนอต่อองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก พบว่ามีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนกว่า 3 ล้านตันต่อปี


จิสด้าร์ ได้ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาปรับใช้กับการบริหารเชิงพื้นที่ ตั้งแต่การจัดการพื้นที่ไฟป่า การตรวจสอบความแม่นยำของพิกัด ชนิดและความหนาแน่นของป่าไม้ รวมถึงการคำนวณหาปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะนำมาใช้ในเร็วๆ นี ซึ่งการแสกนพื้นที่ 3 มิติ จากดาวเทียม คือเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศชนิดหนึ่งที่ใช้ได้จริงแล้ว เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบลักษณะและความหนาแน่นเชิงพื้นที่


ผ่านมา 5 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้จัดเก็บข้อมูลคาร์บอนเครดิตในพื้นที่อีกครั้ง เพื่อเสนอให้ อบก. พิจารณาต่อใบอนุญาต ซึ่งส่วนต่างของค่าปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของป่าไม้ที่เพิ่มขึ้นจากปีแรก จะกลายมาเป็นคาร์บอนเครดิตของพื้นที่ แลกเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินจากภาคธุรกิจเพื่อสังคม กลับมาเป็นงบในส่วนการพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ ต่อยอดให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

คุณอาจสนใจ

Related News