สังคม

อดีตหัวหน้าพญาเสือ ชี้เป้าการรุกเขาใหญ่ เปิดหลักฐานทวงคืนผืนป่ากว่า 8 พันไร่

โดย pattraporn_a

19 มิ.ย. 2565

213 views

พบการบุกป่าเขาใหญ่อีกเกือบหมื่นไร่ นอกเหนือจากคดีรัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการ ขณะที่ อดีตหัวหน้าพญาเสือ กรมอุทยานฯ ชี้เป้าการรุกป่าเขาใหญ่ พร้อมเปิดหลักฐานทวงคืนผืนป่าอีกกว่า 8 พันไร่


อดีตหัวหน้าชุดเฉพาะกิจพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยวิธีตรวจสอบและพิกัดที่พบการบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น แม้แต่ผู้นำท้องถิ่นบางคน ยังพบว่าอยู่เบื้องหลัง การนำชื่อชาวบ้านไปสวมสิทธิ์อ้างทำกินในป่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2541 ทำให้ชุดพญาเสือ ยื่นเรื่องขอให้เพิกถอนถึงกว่า 8,000 ไร่ นอกจากนี้ยังพบว่ามีอีกกว่า 900 ไร่ มีเอกสารสิทธิ์ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งตรวจสอบว่าเอกสารเหล่านั้นออกอย่างถูกต้องหรือไม่


เส้นขอบเขตสีแดง ที่ล้อมผืนป่าสีเขียวในแผนที่นี้ คือขอบเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กินพื้นที่ 3 จังหวัดคือนครราชสีมา -สระบุรี -นครนายก และปราจีนบุรี มองเฉพาะในแง่ปัญหาที่ดินกับผืนป่าอุทยานฯเขาใหญ่ จะเห็นตารางสีเหลืองซ้อนอยู่ใต้ตะเข็บสีแดงในพื้นที่


นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตข้าราชการกรมอุทยานฯ ที่เคยทำหน้าที่เป็นชุดเฉพาะกิจพญาเสือ ระบุว่านั่นคือจุดที่บ่งบอกว่ามีปัญหาทับซ้อนเรื่องที่ดินทำกินของเอกชน กับอุทยานฯเขาใหญ่ รวมกว่า 8,900 ไร่ ทั้งในเขต อ.ปากช่อง และปราจีนบุรี ที่ยังรอการพิสูจน์ว่าเอกชนรุกป่าเขาใหญ่ หรือเอกชนได้โฉนดมาก่อนประกาศอุทยานฯหรือไม่


ข้อมูลที่ นายชัยวัฒน์ เปิดเผย อ้างอิงว่าพบอย่างน้อย 2 วิธีที่มีการรุกป่าเขาใหญ่ในลักษณะทำเป็นขบวนการ แบ่งงวานกันทำ วิธีแรก คือข้อบกพร่องจากที่ในอดีตเคยมีการออกเดินสำรวจแนวเขต ระหว่างกรมป่าไม้ในอดีตที่ดูและอุทยานฯ กับกรมที่ดิน ซึ่งทำให้มีการรับรองที่ดินของเอกชน รุกล้ำเข้ามาในอุทยานฯ นายชัยวัฒน์ อ้างอิงข้อมูลว่ามีปัญหาลักษณะนี้อย่างน้อย 108 แปลง รวมกว่า 901 ไร่ที่ต้องพิสูจน์ให้ชัดว่า เอกชนมาอยู่ก่อนประกาศอุทยานฯ หรือมาบุกรุกภายหลัง


วิธีที่ 2 ที่นายชัยวัฒน์ ระบุว่าเลวร้ายกว่า คือการที่ ก่อนหน้านี้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 30 มิถุนายน 2541 อนุญาตให้ราฎรที่กำกินอยู่ในเขตพิพาท ทำกินต่อไปได้ แต่ห้ามบุกรุกขยายเพิ่มเติม แต่กรณีนี้ พบกำนันคนหนึ่งที่อำเภอปากพลี นครนายก แอบนำชื่อชาวบ้านมาสวมว่าได้สิทธิ์ทำกินตาม มติครม.นี้ ทั้งที่ไม่มีการทำกินมาก่อน แต่แอบแพ้วถางปลูกไผ่กิมซุง หรือยางพาราแซมไว้เพื่อรอบุกรุกเพิ่ม กรณีพบมากกว่า 8,000 ไร่ ใกล้น้ำตกนางรอง และอ่างเก็บน้ำวังบอน


เอกสารบันทึกจับกุมของเจ้าหน้าที่ เมื่อปี 2560 อ้างอิงชื่อกำนันคนหนี่งในเขต อ.ปากพลี จ.นครนายก ถูกชาวบ้านชี้ตัวว่าเป็นคนนำชื่อชาวบ้านไปใส่ว่าเป็นกินตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 แต่เจ้าของชื่อไม่ทราบเรื่องมาก่อน กรณนี้ เจ้าหน้าที่ยังเสนอให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 ปราจีนบุรี เพิกถอนสิทธิ์ทำกินดังกล่าว เพื่อคืนผืนป่าให้อุทยานฯด้วย

คุณอาจสนใจ