สังคม

รอง ผบ.ตร. พร้อม จนท. UNHCR ลงสตูล ตามคดีชาวโรฮิงญาถูกทิ้งกลางทะเล

โดย kodchaporn_j

14 มิ.ย. 2565

54 views

รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงพื้นที่จังหวัดสตูล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ติดตามความคืบหน้าช่วยเหลือชาวโรฮิงญาถูกปล่อยกลางทะเลเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยจะทำการคัดแยกเพื่อกำหนดสถานะในการช่วยเหลือตามกฏหมาย



พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงพื้นที่ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าคดีโรฮิงญา 59 คนถูกทิ้งกลางเกาะทะเลสตูล และถูกนำมาพักไว้ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 436 อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล



โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ร่วมลงพื้นที่ด้วย เนื่องจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า ในจำนวนชาวโรฮิงญา 59 คน พบว่า มีบัตรผู้ลี้ภัย UNHCR จำนวน 26 คน จึงเตรียมมีการตรวจสอบเอกสารสถานะทั้งหมด เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป



โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องการยืนยันด้วยว่า ไทยยังไม่มีการผลักดันชาวโรฮิงญากลับประเทศต้นทาง เนื่องจากสื่อมีการนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อน ซึ่งทั้ง 59 คน ยังคงได้รับการดูแลตามหลักมนุษยธรรม ทั้งเรื่องที่พัก อาหาร และสุขภาพ



ในส่วนชาวโรฮิงญาที่มีบัตรผู้ลี้ภัย UNHCR ที่ขึ้นทะเบียนในบังกลาเทศ จำนวน 26 คน ทาง UNHCR ได้ตรวจสอบสถานะบุคคลของชาวโรฮิงญาทั้งหมดแล้ว หากพบเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จะส่งเข้าสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 หากไม่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จะนำส่งเข้าศูนย์กักกัน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522



พล.ต.อ.รอย ยังได้มอบนโยบายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีพบบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ที่คาดว่าจะเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ขอให้ปฏิบัติตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism : NRM) และต้องสืบสวนขยายผลตรวจสอบเส้นทางการเงิน พิจารณาว่า เข้าข่ายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติหรือไม่



รวมทั้งดูแลสุขอนามัย และรักษาพยาบาลให้กับผู้เสียหายที่อยู่ในขบวนการคัดแยก ร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มมาตรการป้องกันสกัดกั้นทั้งทางบก และทางทะเล โดยเฉพาะจุดล่อแหลมช่องทางธรรมชาติ ที่ไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง และกำชับเจ้าหน้าที่ข้าราชการตำรวจทุกฝ่ายไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการลักลอบขนคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย



Mr.Peter Grady เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองอาวุโส UNHCR เปิดเผยว่า UNHCR พร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย เพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญา และหาทางออกอย่างยั่งยืน จึงจะเข้าพูดคุยกับชาวโรฮิงญาทั้ง 59 คน ถึงความต้องการในการคุ้มครองระหว่างประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป เพราะชาวโรฮิงญากลุ่มนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ออกมาจากเมืองค็อกซ์บาซา ประเทศบังกลาเทศ



จากการรายงานของกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีชาวโรฮิงญาอยู่ราว 111 คน อยู่ในการดูแลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 92 คน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 11 คน และอยู่ในเรือนจำอีก 1 คน ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ประสงค์ไปยังประเทศที่ 3 และต้องการชีวิตที่ดีขึ้น แต่กระบวนการคัดแยก และให้ความช่วยเหลือของ UNHCR ใช้เวลาเนิ่นนานหลายปี จึงทำให้ชาวโรฮิงญาบางส่วน พยายามหลบหนีออกจากสถานที่พักพิง

คุณอาจสนใจ

Related News