สังคม

"นาแห้วโมเดล" จ.เลย ต้นแบบจัดสรรที่ดินป่าสงวนให้ชาวบ้านทำกิน

โดย pattraporn_a

15 พ.ค. 2565

391 views

ยังมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อย อาศัยและทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ด้วยเหตุนี้กรมป่าไม้ จึงส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจ-รังวัดพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อจัดสรรให้ราษฎรอาศัย-ทำกินได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ภายใต้แนวทางแก้ปัญหาที่ดินทำกินในรูปแบบ คทช. ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ


ที่ อ.นาแห้ว จ.เลย ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง ที่เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมแล้วในวันนี้ เพราะนอกจากชาวบ้านจะได้ที่ทำกิน โครงการคทช.ยังเปลี่ยนวิธีคิดจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นการปลูกต้นไม้และทำเกษตรแบบผสมผสาน สร้างงาน-ร้างรายได้ จนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนาแห้วโมเดล ที่มีคนจากทั่วประเทศ เดินทางมาศึกษาดูงานจำนวนมาก 


แปลงที่ทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ อ.นาแห้ว ภาพนี้บันทึกไว้เมื่อราวปี 2557 อาชีพหลักของชาวบ้านหลายครอบครัวในขณะนั้น คือเกษตรกรไร่ข้าวโพด แต่หลังจากกรมป่าไม้ เข้ามาทำโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ และจัดสรรที่ทำกินในรูปแบบ คทช. จากเขาหัวโล้นก็มีสภาพเขียวครึ้มอย่างที่เห็น


พืชผัก-ผลไม้หลากชนิด มีให้เห็นอยู่ทั่วแปลง ผู้ที่ได้รับสิทธิทำกินในที่ดินคทช.แปลงนี้บอกว่า เมื่อก่อนรายได้หลักมีทางเดียว และต้องรอนานหลายเดือนกว่าจะได้เงินจากการเก็บเกี่ยวข้าวโพด แต่หลังจากตัดสินใจเข้าร่วมกับกรมป่าไม้ เปลี่ยนแนวคิดจากพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน


นายยลชาญ กมลรัตน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดเลย บอกว่า แปลงนี้ราว 13 ไร่ ตั้งบนพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3-4 และ5 เป็นหนึ่งในต้นแบบการจัดสรรที่คทช. แบ่งสัดส่วนได้ชัดเจน และน่าสนใจ


ชั้นบนสุดปลูกป่าเลือกพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ ตรงกลางเป็นไม้ผล ส่วนล่างเป็นพืชผักสวนครัวและสมุนไพร มีให้เก็บกินได้ทุกวัน และขายได้ทุกสัปดาห์ รายได้เฉลี่ยต่อเดือน อยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นบาท แต่ถ้าช่วงไหนอากาศดี มีนักท่องเที่ยวมากางเต็นท์ ก็จะมีรายได้เพิ่มจากส่วนนี้ด้วย และหนึ่งในกุญแจดอกสำคัญ ที่นำไปสู่นาแห้วโมเดล ก็คือความเข้มแข็งของชุมชน และความร่วมมือจากกันจากทุกฝ่าย


นายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ บอกว่า คทช.ในเขตป่าสงวนฯ เป็นการจัดสรรที่ดินในรูปแบบแปลงรวม ทำกินอยู่ภายใต้เงื่อนไขและกติกา เช่น ต้องไม่ซื้อขายเปลี่ยนมือ ต้องไม่บุกรุกป่า และจะต้องแบ่งพื้นที่บางส่วนปลูกป่า โดยเฉพาะชาวบ้านในเขตภูเขาสูงลุ่มน้ำชั้น 1-2 เพื่อรักษาสภาพดินและน้ำ และต่อไปชาวบ้านก็สามารถใช้ประโยชน์จากไม้ที่ปลูกได้ รวมถึงรายได้จากคาร์บอนเครดิต ชาวบ้านก็จะได้จากส่วนนี้ด้วย


จังหวัดเลย นำร่อง คทช .จัดสรรที่ในป่าสงวนฯในกลุ่มแรกเสร็จแล้ว เป้าหมายต่อไปคือพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1-2 กรมป่าไม้ ได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมกับภาคประชาชนและผู้นำในท้องถิ่น เพื่อทำให้นาแห้วและจังหวัดเลย เป็นต้นแบบการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินป่าไม้

คุณอาจสนใจ

Related News