สังคม

ปฏิบัติการสำรวจปริมาณ “คาร์บอนเครดิต” เก็บข้อมูลแก้ปัญหาโลกร้อน

โดย pattraporn_a

10 พ.ค. 2565

113 views

ปัจจุบันไทยเข้าร่วมอนุสัญญาภายใต้การลดภาวะโลกร้อน และได้ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 7% ภายใน 5 ปีข้างหน้า


สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ องค์การมหาชน หรือ จิสด้า ได้ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ใช้ดาวเทียมสำรวจพื้นที่ป่าไม้ จัดทำข้อมูลปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของป่าไม้ ด้วยการนำเครื่องไรดาร์ เข้าถ่ายภาพ 3 มิติ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาใช้คำนวณปริมาณคาร์บอนเครดิต โดยวิธีนี้เป็นการตรวจวัดที่ได้มาตรฐานตามหลักสากล สู่การนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ต่อในอนาคต 


โดยผืนป่าจำนวนกว่า 10,000 ไร่ อยู่ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านปางมะโอ ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งความหนาแน่นของป่าไม้ที่ปรากฏอยู่นี้ คือผลจากความร่วมมือของคนในชุมชน


นายสมนึก บุญเกิด หัวหน้าศูนย์โครงการพัฒนาที่สูงแบบโครงการหลวงปางมะโอ เล่าว่า ข้อตกลงการอนุรักษ์ป่าของชุมชนเริ่มขึ้นในปี 2508 โดยมีกฎห้ามทำไร่เลื่อนลอย ชาวบ้านจึงหันมาปลูกเมี่ยง และ ชา ควบคู่ไปกับการปลูกไม้ยืนต้น จวบจนวันนี้ ผ่านมานานกว่า 57 ปี พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นป่าอนุรักษ์ที่อุดมสมบูรณ์ ให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์เรื่อยมา


สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า จึงได้ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมสำรวจพื้นที่ป่าชุมชนบ้านปางมะโอ ประมาณ 1,500 ไร่ เก็บข้อมูลความหนาแน่นและจำแนกชนิดของป่า เพื่อทำการวัดปริมาณการกักเก็บคาร์บอน หรือ คาร์บอนเครดิต เป็นครั้งแรก


เครื่องไรดาร์ ถูกนำมาใช้เก็บข้อมูลสภาพป่าไม้ ด้วยภาพ 3 มิติ ทุก 10 ตารางเมตร ซึ่งจะเก็บทั้งข้อมูลความสูง ขนาดลำต้น และความหนาแน่น มาวิเคราะห์ผล ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ วิธีนี้จะมีความแม่นยำและประหยัดเวลากว่าวิธีเดิม ที่ต้องใช้คนจำนวนมากและมีความคลาดเคลื่อนได้


ข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาคำนวณหาค่าปริมาณการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งจำเป็นต้องเก็บข้อมูลในระยะเวลาห่างกันในช่วง 3 ปี 5 ปี และ 10 ปี โดยส่วนต่างของค่าปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของป่าไม้ในแต่ละปี จะกลายมาเป็นคาร์บอนเครดิตของพื้นที่



นายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า พื้นที่ในส่วนนี้จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ TGO เพื่อให้กระบวนการวัดคาร์บอนเครดิตเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งต้องอยู่ในเกณฑ์สูงสุด คือ เทียร์ 3 โดยขณะนี้จิสด้าร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง นำร่องพื้นที่ป่า 34 แห่ง ในจังกวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน กำแพงเพชร นครสวรรค์และกระบี่


ล่าสุดไทยเข้าร่วมอนุสัญญาภายใต้การลดภาวะโลกร้อน และได้ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 7% ภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งขณะนี้ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศประมาณ 300 ล้านตัน ต่อปี ขณะที่ปัจจุบันไทยมีป่าไม้ที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 70 ล้านตันต่อปีในภาพรวมของทั้งประเทศ โดยปัจจัยสำคัญที่สุดคือความร่วมมือของคนในชุมชน เมื่อพวกเขาเห็นประโยชน์จากพื้นที่ ย่อมทำให้เกิดการดูแลรักษาอย่างยุ่งยืน

คุณอาจสนใจ

Related News