สังคม

ประชากรทั่วโลกเกินครึ่งเสี่ยงป่วย "โรคหืด" ภายในปี 2050

โดย pattraporn_a

8 พ.ค. 2565

108 views

ทุกช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะอยู่ในช่วงวันโรคหืดสากล หรือ world asthma day


สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า พบคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่า 7,000 คน ต่อปี และมีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงกว่า 3 เท่าในรอบ 10 ปี โดยมีสาเหตุจากสถานการณ์มลพิษทางอากาศที่แย่ลงในทุกวัน จากสภาวะโลกร้อน ซึ่งหากทั่วโลกยังไม่ตระหนักถึงปัญหานี้ ก็มีการคาดการณ์ไว้ว่า ประชากรของโลกกว่าครึ่งอาจป่วยเป็นโรคนี้ภายใน 30 ปีข้างหน้า


สภาวะโลกร้อน หรือ climate change ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป เมื่อสภาพอากาศที่เราใช้หายใจในทุกวันนี้ต่างเต็มไปด้วยฝุ่นละออง pm 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานในแต่ละวัน


วีดีโอ world asthma day 2022 จากสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ระบุ องค์การอนามัยโลก who คาดการณ์ภายใน ปี 2025 ประชากรโลกเกินกว่าครึ่งอาจป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ได้โดยเฉพาะหอบหืด จากคุณภาพอากาศที่เลวร้าย


ข้อมูลจาก เว็บไซต์ our world in data ระบุว่า ความชุกของโรคหืด (Asthma) ในประเทศไทย ในช่วง 8 ปีย้อนหลัง ระหว่างปี 2012 ถึง 2019 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.32 เป็นร้อยละ 3.59 หรือคิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8


ดังนั้น หากประชากรไทยมี 66,000,000 คน ในปี 2012ก็จะ มีผู้ป่วยโรคหืด 2,191,200 คน ส่วนในปี 2019 จะมีผู้ป่วยโรคหืด 2,369,400 คนหรือ เพิ่มขึ้นถึง 178,200 คน เฉลี่ยปีละมากกว่า 2 หมื่นคน


โรคหืดเป็นโรคภูมิแพ้อย่างหนึ่งที่เกิดได้กับคนทุกวัย โดยมีปัจจัยหลักจากสภาวะอากาศและค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกปี เฉพาะในปี 2564 มีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานสูงถึง 67 วัน


ขณะที่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อการคลอดทารกที่จะป่วยเป็นโรคหืดเพิ่มขึ้นถึง 30% และ ทารกในช่วงขวบปีแรกก็มีความเสี่ยงสูงถึงกว่า 60% เช่นกัน


หากเปรียบเทียบค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศเฉลี่ยต่อวัน ไทยกำหนดอยู่ที่ 37 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ขณะที่สหรัฐอเมริกา กำหนดอยู่ที่ 12 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งทางสมาคมมองว่าไทยควรปรับลดลงมาให้เท่ากับมาตรฐานในประเทศอื่น ซึ่งจะช่วยสร้างมาตรการควบคุมฝุ่นละอองที่มีผลต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ดีกว่า


โรคหืด เป็นโรคทางกลุ่มอาการภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่เป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งคนไข้ต้องพ่นยาต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนกระทั่งอาการเริ่มปกติ แต่ผู้ป่วยบางคนก็อาจมีอาการหืดกำเริบเฉียบพลันรุนแรง จนทำให้เสียชีวิตได้ จากข้อมูลของสำนักโรคไม่ติดต่อระบุว่า ผู้ป่วยโรคหืดมีแนวโน้มของโรครุนแรงขึ้น โดยมีเสียชีวิตประมาณ 2,200 คนต่อปี และขยับขึ้นมาเป็น 7,000 คน ในปัจจุบัน

คุณอาจสนใจ