สังคม

เครือข่ายมนุษยธรรม ยื่นสอบความเป็นธรรม 8 ปี 'อุยกูร์' ถูกขังลืม

โดย panwilai_c

27 เม.ย. 2565

104 views

นอกจากชาวโรฮิงญาที่ประเทศไทยเป็นเส้นทางในการลี้ภัยจนตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์แล้ว เมื่อ 8 ปีก่อน ยังมีชาวอุยกูร์ ที่ลี้ภัยจากเมืองซินเจียง ประเทศจีน ผ่านเส้นทางชายแดนประเทศไทยและมาเลเซีย ถูกจับกุมได้พร้อมชาวโรฮิงญา กลางสวนยางอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลาจำนวน 220 คน ถูกดำเนินคดีหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย หลังจากนั้นผู้หญิงและเด็ก ถูกส่งไปประเทศที่สาม แต่ผู้ชายถูกส่งกลับไปจีน ยังคงเหลืออีกกว่า 50 คน ถูกขังลืมอยู่ในห้องกัก ตม.ทั่วประเทศ เป็นเวลากว่า 8 ปี ทั้งๆที่ศาลตัดสินทางกฏหมายไปแล้ว



ทำให้วันนี้เครือข่ายด้านมนุษยธรรมได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบเรื่องนี้เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรมไปมากกว่านี้



ข่าว 3 มิติ พร้อมด้วยตำรวจจากกองบังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 6 พบชาวมุสลิมอุยกูร์ 220 คน กลางสวนยางพารา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ด้วยสภาพที่ตกใจเพราะในวันนั้นมีรายงานข่าวการเคลื่อนย้ายชาวโรฮิงญาจากแคมป์กักกันหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ พบชาวโรฮิงญากลุ่มหนึ่ง แต่พบคนอีกกลุ่มที่หน้าตาแปลกไปและมารู้ภายหลังว่าพวกเขาคือชาวอุยกูร์ ที่มาจากเมืองซินเจียง ประเทศจีน พวกเขามีทั้งผู้ชาย 78 คน มีผู้หญิง 60 คน และเด็ก 82 คน จำนวนไม่น้อยเป็นเด็กทารก และยังอยู่ในครรภ์ของแม่ แน่นอนว่าพวกเขาถูกควบคุมตัวในข้อหาหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย และต้องถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทาง ซึ่งเวลานั้นประเทศจีนได้แสดงตัวว่าเป็นประชาชนของตนเอง ท่ามกลางการเรียกร้องขององค์กรสิทธิมนุษยชน เพราะกลุ่มชาวอุยกูร์ เหล่านี้ยืนยันว่าต้องการลี้ภัยไปประทศที่ 3 และต่างหลบหนีการถูกประหัตประหารมาจากความขัดแย้งในเมืองซินเจียง ทำให้ผู้ชายต้องถูกกักขังอยู่ใน ตม.ส่วนผู้หญิงและเด็กได้รับการดูแลในบ้านพักหญิงและเด็กสงขลา



ก่อนนี้ผู้หญิงและเด็กจะเข้าสู่กระบวนการส่งตัวไปประเทศที่ 3 ในขณะที่ชาย 109 คนรัฐบาลไทยในปี 2558 ส่งตัวกลับไปจีน ทำให้ที่เหลือกว่า 50 คน ถูกกักอยู่ในห้องกัก ตม.ไม่ต่ำกว่า 15 แห่ง ทั่วประเทศ​จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 8 ปีแล้ว



นายอิสม่าแอน หมัดอะดิ้ม ประธานมูลนิธิคนช่วยฅน และสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี เปิดเผยว่า แม้กรณีปัญหาชาวอุยกูร์จะละเอียดอ่อนด้านความมั่นคง แต่ด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมแล้ว การปล่อยให้ชาวอุยกูร์ ถูกขังลืมมา 8 ปี ย่อมไม่เป็นธรรมกับชาวอุยกูร์ ที่ศาลมีคำสั่งคดีสิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ปี 2557 และคนที่ถูกขังอยู่ในห้องกัก ตม.มีผู้สูงอายุที่อายุกว่า 80 ปี หลายคนมีปัญหาสุขภาพ และไม่รู้เลยว่าจะถูกขังไปถึงเมื่อไหร่ จึงไม่อยากเห็นมีคนต้องเสียชีวิตในห้องกัก



มูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ โดยนายกัณวีร์ สืบแสง ร่วมกับ สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี มูลนิธิคนช่วยฅน และภาคีเครือข่ายกว่า 50 องค์กร ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความเป็นธรรมต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ แม้ไทยจะยังไม่ได้ลงนามและให้สัตยาบันต่อกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องสถานะผู้ลี้ภัย และยังไม่มีการบัญญัติกฎหมายภายใน ว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย แต่กรณีชาวอุยกูร์ที่ได้รับโทษตามกฏหมายเข้าเมืองไปแล้วแต่รัฐไทยยังใช้วิธีกักขังไว้ด้วยช่องว่างทางกฎหมายที่ไม่ได้ระบุระยะเวลาสูงสุดที่ ตม. สามารถกักตัวผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายไว้ แต่เวลา 8 ปีอาจนานเกินไปในแง่มนุษยธรรม ที่ถึงเวลาที่ไทยต้องยืนยันในหลักการจารีตประเพณีไม่ส่งกลับ หาทางออกให้ชาวอุยกูร์ ที่ระยะเร่งด่วนอาจหาพื้นที่ที่ไม่ใช่ห้องกัก ตม.ให้พวกเขาได้มีอิสรภาพที่เหมาะสมก่อนจะเกิดการสูญเสีย



กรรมาธิการกฏหมาย เตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ตำรวจ ตม. กระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเครือข่ายองค์กรด้านมนุษยธรรม เข้าชี้แจงข้อมูล และเห็นด้วยที่ต้องแก้ไขปัญหาชาวมุสลิมอุยกูร์ตามหลักมนุษยธรรม เพราะเวลา 8 ปีที่ถูกขังลืม อาจมากเกินไปสำหรับชีวิตของมนุษย์ที่หวังเพียงได้มีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย

คุณอาจสนใจ

Related News