สังคม

อัยการสูงสุด จับมือ 4 หน่วยงาน ร่วมอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา

โดย pattraporn_a

29 มี.ค. 2565

83 views

4 หน่วยงานของรัฐ และสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานเอกชน ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU เพื่ออำนวยความ ยุติธรรมในคดีอาญา ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญให้พนักงานอัยการ เข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นและสำคัญของคดีได้ทันเวลา โดยไม่ต้องรอข้อมูลจากพนักงานสอบสวนเพียงฝ่ายเดียว เพราะจะพบว่าหลายคดีที่เกิดขึ้นหากเก็บหลักฐานล่าช้า หรือไม่ครบถ้วน จะทำให้ข้อมูลสำคัญของคดีเสื่อมสภาพหรือชำรุด


เมื่อบ่ายวันนี้ (29 มี.ค.) การลงนามความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุด , กระทรวงยุติธรรม , กระทรวงมหาดไทย , กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย มีขึ้นท่ามกลางความมุ่งหวังว่า นี่จะเป็นกลไกสำคัญให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยสะดวก ผ่านการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว


นายวิศิษฎ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการลงนามว่า ข้อเท็จจริงของคดีไม่ว่าจะเป็นความจริง หรือความเท็จ ที่ถูกค้นพบล่าช้า หรือถูกปกปิด จากข้อจำกัดหลายประการ ทำให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้ช้า หรือเข้าไม่ถึงด้วยซ้ำ


วัตถุประสงค์ของ MOUนี้ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลหลักฐานของคดีอาญาแล้วส่งต่อถึงกันได้ โดยเฉพาะพนักงานอัยการที่จำเป็นต้องได้ข้อมูลคดีอาญาได้ทันต่อสถานการณ์ เช่น ภารกิจของสำนักงานอัยการสูงสุด จะผลักดันจัดตั้งศูนย์รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน ผลักดันการตั้งแพทย์นิติเวชเป็นคณะที่ปรึกษาคดี เป็นต้น หรือกระทรวงมหาดไทย ที่จะ สนับสนุนข้อมูลทะเบียนบุคคล อาวุธ หรือหลักฐาน เช่นกล้องวงจรปิด ในพื้นที่รับชอบ ให้พนักงานอัยการได้  เช่นเดียวกับภารกิจกระทรวงสาธารณสุข หรือสมาคมแพทย์นิติเวช ที่จะสนับสนุนข้อมูลการตรวจพิสูจน์ศพ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการคดี


ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาการสอบสวนฯ สำนักงานอัยการสุงสุด ยกตัวอย่างว่าต่อไปนี้หากมีคดีอาญาใดที่สาธารณชนสนใจ หรือเป็นคดีสำคัญ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะกลไกของกระทรวงมหาดไทย ที่ทำ mou ไว้ สามารถเก็บรวบรวมหลักฐานข้อมูลให้อัยการได้ เพื่อให้อัยการมีข้อมูลนี้หลักฐานคดีตั้งแต่ต้น แทนที่จะรอสำนวนจาก พนักงานสอบสวนอย่างเดียว/เช่นเดียวกับกรณีคดีอดีตผู้กำกับโจ้ ที่นครสวรรค์ หรือคดีนักแสดงสาวแตงโม นิดา ที่เสียชีวิต หากเข้าถึงข้อเท็จจริงได้เร็ว ก็จะคลายความสงสัย ให้สังคมได้


ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม มองว่านี่คือหนึ่งในก้าวสำคัญที่จะทำให้พนักงานอัยการเข้าถึงข้อมูล ข้อเท็จจริงกับตาของตัวเอง แทนที่จะเฝ้าดูข้อมูลจากสื่อมวลชน และรอสำนวนจากพนักงานสอบสวนแต่เพียงอย่างเดียว


ภายหลังลงนามใน MOU นี้แล้ว แต่ละหน่วยงานจะมีระเบียบหรือแนวทางปฎิบัติงานเพื่อให้องค์กรภายใต้กำกับ รับรู้และปฎิบัติตามวัตถุประสงค์ของ MOU ได้ถูกต้อง และอนาคต จะมีองค์กรเอกชน อย่างอาสาสมัครกู้ภัย ที่มักเป็นกลุ่มคนแรกๆที่เข้าถึงจุดเกิดเหตุ หรือผู้ประสบเหตุ ซึ่งจะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อคดี เข้าร่วมเป็นภาคีเพื่ออำนวยความยุติธรรมนี้ด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News