สังคม

ญาติเหยื่อวิสามัญฆาตกรรมภาคใต้ เรียกร้องยุติ "สังหารนอกกฎหมาย"

โดย pattraporn_a

9 มี.ค. 2565

98 views

ครอบครัวผู้เสียหายจากเหตุวิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 56 ราย ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมยื่นข้อเสนอ 10 ข้อในการยุติการสังหารนอกระบบกฏหมาย โดย นายชวลิต วิชยสุทธ์ รักษาการประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมนำไปตรวจสอบเพื่อเดินหน้าสู่กระบวนการสันติภาพที่แท้จริง และเสนอให้นำแนวทาง 66/23 มาปรับใช้เพื่อคืนความยุติธรรม


คณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เปิดเวทีรับฟังปัญหาจากครอบครัวผู้เสียหาย 56 รายจากเหตุวิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วง 2 ปี 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ข้อเสนอ 10 ข้อ จากสถานการณ์การฆ่านอกระบบกฎหมายในจังหวัดชายแดนใต้ เฉพาะตั้งแต่เดือดนมกราคม 2563- กุมภาพันธ์ 2565 ถือว่ามากที่สุดช่วงหนึ่ง ทั้งๆที่กำลังมีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ


โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฏหมายพิเศษ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ที่เห็นว่าการวิสามัญฆาตกรรมนำไปสู่ ความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้ญาติเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม และเหตุปิดล้อมที่นำมาซึ่งการวิสามัญฆาตกรรมเกิดขึ้นในชุมชน ทำให้มีประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ เช่น กรณีการปิดล้อมที่อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา รวมถึงการปิดล้อมที่ฮูแตยือลอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส


จึงมีการเสนอ 10 ข้อให้รัฐยุติการสังหารประชาชนนอกระบบกฏหมายโดยทันที และกรณีมีการวิสามัญฆาตกรรม มีเสียชีวิตขอให้ดำเนินการตามหลักศาสนา เช่นการรับคืนศพ การยึดทรัพย์สินเพื่อตรวจสอบควรคืนให้ญาติเพื่อสิ้นสุดการตรวจสอบ การชันสูตรพลิกศพต้องมีตัวแทนทุกฝ่าย และให้เป็นไปตามขั้นตอนที่โปร่งใส รวมทั้งหากผิดขั้นตอนต้องมีการ ขอโทษ เพื่อเยียวยาจิตใจ


นอกจากนี้ ยังมีกรณีของ นายอามีน กอซอ ซึ่งเคยถูกดำเนินคดีความมั่นคง 5 คดีในปี 2553 โดยศาลยกฟ้อง 4 คดี มี 1 คดีที่ต้องโทษไปแล้ว 12 ปีได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อเดือนตุลาคม 2564 แต่กลับถูกอายัดตัวจาก สภ.เมืองจังหวัดยะลา ในคดีที่นายอามีน ยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิด จึงขอสิทธิประกันตัวมาต่อสู้คดี แต่กลับไม่ได้รับการประกันตัว จนต้องจำคุกมาอีก 6 เดือน ทำให้ครอบครัวต้องร้องขอความยุติธรรม หลังรอคอยที่จะมีอิสรภาพได้กลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัว


คณะกรรมาธิการยังลงพื้นที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พบครอบครัวของอดีตผู้ต้องสงสัยที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2563 ซึ่งทั้ง 2 ครอบครัว ยังเชื่อมั่นว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่กระบวนการติดตามของรัฐ ทำให้ถูกกดดันจนต้องหลบหนี และกลายเป็นตราบาปของครอบครัว ที่ไม่เชื่อมั่นในความยุติธรรมจากรัฐอีกแล้ว


นายชวลิต วิชยสุทธ์ รักษาการประธานคณะกรรมาธิการกฏหมายฯ เห็นว่า การที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ากว่า 18 ปีที่ผ่านมา แม้รัฐจะทุ่มงบประมาณหลายแสนล้านบาทในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงเสนอให้นำนโยบาย 66/23 กลับมาใช้แก้ไขปัญหาเพื่อให้ผู้คิดต่างกลับเข้าสู่สังคมอย่างปลอดภัย


คณะกรรมาธิการเตรียมนำเรื่องที่ประชาชนเสนอเข้าสู่การพิจารณาเพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และคาดหวังให้รัฐบาลนำแนวทางนี้ไปสู่การแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

คุณอาจสนใจ

Related News