สังคม

ครม.ถอดรักษาโควิด "กลุ่มสีเขียว" ออกจากสิทธิ์ยูเซ็ป มีผล 16 มี.ค.นี้

โดย pattraporn_a

8 มี.ค. 2565

102 views

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในวันนี้เริ่มลดลง ขณะที่ผู้เสียชีวิตรายวันยังเพิ่มสูงต่อเนื่อง โดยวันนี้ทำสถิติใหม่ที่ 69 คน ด้านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติปรับกฎเกณฑ์การรักษาโควิด จากสิทธิภาวะฉุกเฉินวิกฤตรักษาทุกที่หรือ UCEP มีผล 16 มีนาคมนี้ทันที


วันนี้ (8 มี.ค.) ศบค.รายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 18,943 คน จนถึงขณะนี้ไทยมีผู้ป่วยสะสม 3,066,800 คน หายป่วยเพิ่ม 25,005 คน กำลังรักษาอยู่ 224,328 คน เป็นอาการหนัก 1,189 คน ใช้เครื่องช่วยหายใจ 400 คน


ส่วนยอดผู้เสียชีวิตวันนี้ทุบสถิติรายวันใหม่ 69 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 52 คน ที่มีปัจจัยโรคเสี่ยงร่วมด้วย ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขยังได้รายงานยอดติดเชื้อจาก ATK อีกจำนวน 19,622 คน


ล่าสุดวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติถอดสิทธิการรักษาผู้ป่วย โควิด-19 ในกลุ่มอาการไม่รุนแรง หรือ กลุ่มสีเขียวออกจากสิทธิการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาทุกที่หรือ UCEP มีผล 16 มีนาคมนี้ทันที


นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การปรับแนวทางการรักษานี้ มีผลให้กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง ในกลุ่มสีเขียว ไม่ถูกนับเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตอีกต่อไป


สำหรับสิทธิการรักษา จะยังคงเข้ารับการรักษาฟรีตามสิทธิของบุคคล เช่น สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการ และแนะนำให้การดูแลแบบ Home Isolation(HI) หรือ Community Isolation(CI) หรือ Hotel Isolation


ส่วนกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ กลุ่มสีเหลืองและ สีแดง ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ในโรงพยาบาลทุกแห่งตามเดิม โดยไม่กำหนดระยะเวลา 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งจะเรียกสิทธิที่มีการปรับปรุงในครั้งนี้ว่า UCEP Plus


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ยืนยันกับข่าว 3 มิติว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาก่อนวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ หรือ วันที่ 16 มกราคม จะยังคงอยู่ในระบบสิทธิ UCEP เดิม หลังที่ผ่านมาพบปัญหาโรงพยาบาลเรียกเก็บค่าห้องพักจากผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม โดยอ้างว่าค่าใช้จ่ายของสปสช. ไม่ครอบคลุม


หากพิจารณาจากหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายฉบับล่าสุด ที่มีผลบังคับใช้ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ยังคงค่าใช้จ่ายแบบเหมารวมครอบคลุมทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าห้องพัก ค่าตรวจหาเชื้อ และอื่นๆ จึงยืนยันว่าโรงพยาบาลทุกแห่งไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มได้


กรณีหากโรงพยาบาลกเรียกเก็บเงิน ประชาชนสามารถแจ้งร้องเรียนไปที่สภาองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคได้ทันที ที่เบอร์สายด่วน 081-134-9216


ขณะที่ปัญหาการลงทะเบียนผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านหมายเลข 1330 กด 14 ในขณะนี้ ยังพบปัญหาความล่าช้า เบื้องต้นได้เพิ่มคู่สายเป็น 3,200 คู่สายแล้ว โดยผู้ที่ติดต่อเข้ามา ขอให้สังเกตอาการและประวัติสุขภาพของเพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ หากฉีดวัคซีน 2 เข็มขึ้นไป สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่อยู่ในกลุ่ม 608 และไม่มีอาการ ให้กักตัวในบ้าน รับประทานยาตามอาการ จนครบ 10 วัน


ขณะนี้ได้เพิ่มแนวทางการรักษาแบบ เจอ แจก จบ ให้ประชาชนเลือกไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลได้ หากเป็นกลุ่มอาการหนัก หรือ อยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้รีบติดต่อโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาพื้นฐาน และติดต่อผ่านหมายเลข 1669 เพื่อจัดส่งรถพยาบาลมารับผู้ป่วย


ขณะเดียวกันยังมีช่องทางลงทะเบียนเข้ารับการรักษาผ่านไลน์ออฟฟิเชียล ที่ Line : @NHSO ได้อีกช่องทาง

คุณอาจสนใจ

Related News