สังคม

สธ.เตือนภัยโควิดระดับ 4 ขณะที่ “อนุทิน” เซ็นถอดออกจาก UCEP เริ่ม 1 มี.ค.นี้

โดย pattraporn_a

21 ก.พ. 2565

109 views

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อที่เพิ่มต่อเนื่องในรอบ 2 สัปดาห์ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศยกระดับการเตือนภัยโควิด 19 เป็นระดับ 4 แล้ว และ ล่าสุดก็มีความชัดเจนเรื่องการถอดสิทธิการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือ UCEP แล้ว เพื่อให้ผู้ป่วยกลับเข้าสู่สิทธิการรักษาพื้นฐานตามเดิม โดยจะเริ่ม 1 มีนาคมนี้ทันที


ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันนี้อยู่ที่ 18,883 คน แบ่งเป็น ในประเทศ 18,721 คน และจากต่างประเทศ 162 คน จนถึงขณะนี้ไทยมีผู้ติดเชื้อสะสม 2,731,198 คน หายป่วยกลับบ้าน 14,914 คน กำลังรักษา 166,397 คน เป็นอาการหนัก 796 คน ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 202 คน เสียชีวิตเพิ่ม 32 คน


ขณะเดียวกันกรมควบคุมโรคได้รายงานผลตรวจ ATK วันนี้พบผู้ติดเชื้อเข้าข่ายเพิ่ม 15,010 คน รวมสะสม 594,246 ราย หากรวมยอดผู้ป่วยใหม่กับผลตรวจ ATK วันนี้ ตัวเลขรวมจะอยู่ที่ 33,893 คน


จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่งขึ้นหลักหมื่นคนต่อวันต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ ทำให้ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศยกระดับการเตือนภัยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 กลับมาเป็นระดับ 4 อีกครั้ง


นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาไทยมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 15,981 คน และ เสียชีวิตเฉลี่ย วันละ 25 คน พบการระบาดไปในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการรับประทานอาหารร่วมกันและการแพร่เชื้อจากกลุ่มเด็ก


การยกระดับการเตือนภัยจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 จึงขอความร่วมมือปิดสถานที่เสี่ยง ให้ work from home 50 – 80% งดไปรับประทานร่วมกัน งดดื่มสุราในร้าน งดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท เลี่ยงเข้าใกล้ผู้อื่นนอกบ้าน คัดกรองก่อนเดินทาง ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่


ส่วนสถานการณ์เตียงรักษา นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุ พบการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่ส่วนของผู้ป่วยกลุ่มอาการหนักไม่ได้เพิ่มขึ้น 


ข้อมูลสถานการณ์การใช้เตียงของประเทศ รวมเขตสุขภาพที่ 1-13 รวม 170,000 เตียง ล่าสุดมีผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว 50% ในเตียงระดับ 1 คือกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวขณะที่สัดส่วนการครองเตียงทั่วประเทศ อยู่ที่ร้อยละ 49 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้


ส่วนอัตราครองเตียง ผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง อยู่ที่ 14-15% สถานการณ์เตียงกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทุกสังกัด เตียงระดับ 1 คือ สีเขียว อัตราครองเตียงอยู่ที่ 23,608 หรือ 50.5%


นายแพทย์ณัฐพงศ์ ย้ำว่า ผู้ป่วยทุกรายไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล แต่สามารถรักษาที่บ้านได้ ตามมาตรการ Home isolation


กรณีที่ผู้ป่วยตรวจพบเชื้อด้วย ชุดตรวจ atk แล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจ RT-PCR ซ้ำ และขอให้ผู้ป่วยรักษาตัวในระบบ HI และ CI ก่อนโดยให้ติดต่อ 1330 ส่วนผู้ที่มีอาการหนัก ให้ติดต่อ 1669 เพื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล


ล่าสุด มีความชัดเจนเรื่องการถอดโควิด-19 ออกจากโรคฉุกเฉินตามสิทธิการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือ UCEP หลังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ตามที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส. ได้เสนอให้นำโรคโควิด-19 ออกจาก UCEP ภาวะวิกฤติฉุกเฉิน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม นี้เป็นต้นไป โดยกำหนดให้โรคโควิด-19 เป็นโรคที่รักษาได้ตามสิทธิ์ของประชาชนที่มีอยู่


หากผู้ป่วยโควิด จะเข้าเกณฑ์ UCEP คือผู้ป่วยต้องเข้าข่ายอาการ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง , ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย


ส่วนข่าวลือเรื่องการล็อคดาวน์ทั้งประเทศอีกครั้งหรือไม่ ล่าสุดแพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. ยืนยันยังไม่มีทิศทางล็อคดาวน์ในขณะนี้ โดยที่ประชุมศบค.จะมีการพิจารณาอย่างรอบด้านอีกครั้งในวันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์นี้

คุณอาจสนใจ

Related News