สังคม

นาซ่า จับมือ ม.เกษตรฯ-จิสด้า ลุยศึกษา "ผลึกเหลวในอวกาศ"

โดย pattraporn_a

20 ก.พ. 2565

49 views

เป็นครั้งแรก ที่นาซ่า ลงนามข้อตกลง ด้านการวิจัยในอวกาศ ร่วมกับชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจับมือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ จิสด้า ศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ


ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของไทย เมื่อนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้พัฒนาโครงการ Liquid Crystal หรือ การศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ โดยร่วมกับ นาซ่า ซึ่งถือเป็นครั้งแรกกับที่มีความร่วมมือกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนับจากนี้อีก 3 ปี นักจัยไทยจะได้เป็นผู้ควบคุมทดสอบงานวิจัยนี้ หลังส่งชุดอุปกรณ์ขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ที่กำลังโคจรอยู่นอกโลก



เป็นครั้งแรก ที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ นาซ่า ได้ลงนามข้อตกลง หรือ MOU ด้านการวิจัยในอวกาศร่วมกับชาติในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นครั้งแรก นั่นคือประเทศไทย ผ่านความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ องค์การมหาชน หรือ จิสด้า


งานวิจัยนี้ คือ การศึกษาผลึกเหลว หรือ Liquid crystal ในอวกาศ ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม จากภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งต่อยอดการพัฒนาเป็นชิ้นงานที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เช่น หน้าจอ Liquid crystal display ที่เราเรียกกันอย่างคุ้นปากกันว่าจอ LCD เป็นอุปกรณ์พื้นฐานหน้าจอโทรศัพท์ ทีวี และคอมพิวเตอร์ 


กระจกอัจฉริยะสมาร์ทกลาส ที่ปรับแสงได้ด้วยระบบไฟฟ้า เพียงกดสวิตช์เปิดปิด และเทคนิคการยิงเลเซอร์ แสดงให้เห็นการปรับเฟสของเเสง มักใช้ทดสอบเส้นใยสื่อสาร ไฟเบอร์ออพติก สู่การสร้างmicrogravity science glovebox ที่มีกล้องจุลทรรศน์ไว้ศึกษาฟิล์มนี้บนสถานีอวกาศได้


การทดลองนี้นักวิจัยไทยจะศึกษาสสารผลึกเหลว ที่เป็น complex fulid หรือ ของเหลวที่ซับซ้อน เพื่อความเข้าใจคุณสมบัติทางความร้อนโดยละเอียดในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง


ผู้วิจัยเล่าว่า สิ่งที่น่าสนใจของการศึกษานี้ คือ การสร้างฟิล์มบางของผลึกเหลว ขณะเดียวกันก็ศึกษาจุดบกพร่องของโครงสร้าง กรณีเกิดปฏิกิริยาความร้อนฉับพลัน ที่มักเกิดขึ้นเสมอในหน้าจอ LCD ซึ่งนี่เป็นหัวข้อที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ผลการทดลองดังกล่าวจะทำให้เกิดความเข้าใจในจุดบกพร่องเหล่านี้ นำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาเทคโนโลยี LCD ให้ไปได้ไกลยิ่งขึ้น


ขณะเดียวกันทีมวิศวกรจากจิสด้าจะทำหน้าที่ประกอบสร้างและทดสอบชุดอุปกรณ์ก่อนส่งขึ้นสู่อวกาศ ส่วนในขั้นตอนสุดท้ายจะถูกส่งต่อให้ทีมวิศวกรและนักบินอวกาศจากนาซ่า นำไปทดสอบบนสถานีอวกาศนานาชาติ iss โดยมี ทีมวิจัยของ ผศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม เป็นผู้ควบคุมการศึกษาจากบนพื้นโลก


อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีผลึกเหลวเกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปี และได้รับความสนใจจากนาซ่ามาโดยตลอด ที่สำคัญเทคโนโลยี LCD มีมูลค่าทางการตลาดในปัจจุบันสูงกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ไม่แน่ว่าในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวถูกส่งขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ iss เรียบร้อยแล้ว เราอาจจะได้เห็นเทคโนโลยีจากผลึกเหลว liquid crystal ฝีมือนักวิจัยไทยในรูปแบบต่างๆ ตามมาในอนาคต

คุณอาจสนใจ