สังคม

เปิดความร่วมมือ ไทย-ซาอุฯ หลังฟื้นความสัมพันธ์ ตั้งเป้าส่งออกแรงงาน 8 ล้านคน

โดย pattraporn_a

26 ม.ค. 2565

55 views

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศซาอุดิอาระเบีย กลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหลังยุติไปนานกว่า 30 ปี ภายหลังการเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีและคณะ โดยหนึ่งในการเริ่มต้นฟื้นความสัมพันธ์ครั้งนี้ คือความร่วมมือด้านแรงงาน ที่ทางการไทย ประกาศว่า ผู้แทนซาอุดิอาระเบีย เตรียมเปิดรับแรงงานฝีมือจากไทย มากถึง 8 ล้านคน เพื่อเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างขนาดใหญ่ จนถึงงานโรงแรมและ งานด้านบริการและสุขภาพ


พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 25 มกราคม 2565 ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี โดยมกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ ทรงให้การต้อนรับ


ระหว่างการหารือ นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเสียใจต่อโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2532-2533 จากคดีโจรกรรมเครื่องเพชรของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด และคดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีอาระเบีย โดยยืนยันว่า ไทยได้พยายามอย่างที่สุดแล้วในการสะสางกรณีต่าง ๆ และหากมีหลักฐานใหม่ก็พร้อมที่จะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณา และหลังจากนี้ก็จะมีการเร่งดำเนินการเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึงการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำเมืองหลวงของทั้งสองประเทศ


ขณะที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เข้าหารือทวิภาคีกับนายอาหมัด สุไลมาน อัลลาจี (Ahmad Sulaiman ALRajhi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาทางสังคม โดย มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียทรงมีบัญชาให้ทางกระทรวงจัดหาแรงงานดีมีฝีมือ ให้ได้ 8 ล้านคน ซึ่งไทยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ และซาอุดีอาระเบียมีความตั้งใจผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่


ด้าน รองศาสตราจารย์เอนก ศิริพานิชกร อนุกรรมการ สภาวิศวกร มองว่าตลาดแรงงานฝีมือไทย โดยเฉพาะภาคก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่อาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากปัจจุบันในโครงการขนาดใหญ่ 7,000 ล้านบาทของไทย 1 โครงการ จะมีแรงงานอย่างน้อย 2,000 คน ในจำนวนนี้มีแรงงานไทยเฉลี่ยเพียง 30% หรือ ราว 600 คนเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกกว่า 70% เป็นแรงงานต่างด้าว ขณะที่ในอดีตช่วงปี 2533 ช่วงนั้นก็มีแรงงานไทยในซาอุฯ ราว 300,000 - 400,000 คน ดังนั้นการส่งออกงานบริการทั้งระบบ ผ่านการจัดจ้างบริษัทจะตอบโจทย์ความร่วมมือนี้มากกว่า


เบื้องต้นทั้งฝ่ายไทยและซาอุดีอาราเบียเห็นพ้องให้เร่งรัดความร่วมมือในอนาคต โดยจะสร้างผลประโยชน์อย่างมากต่อทั้งสองประเทศ เนื่องจากโครงการก่อสร้างและพัฒนาของซาอุดีอาระเบียยังต้องการการสนับสนุนจากต่างชาติ ทั้งในด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว และด้านแรงงานจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ และแรงงานฝีมือ รวมทั้งกึ่งฝีมือของไทยได้เข้ามามีส่วนร่วม

คุณอาจสนใจ

Related News