พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ พื้นที่ จ.นครราชสีมา

โดย chiwatthanai_t

19 ต.ค. 2565

86 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา


วันนี้ เวลา 13.21 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปทัศนศึกษาเกี่ยวกับกิจการของสถาบันฯ ที่อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม


ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านแสงซินโครตรอนในอาเซียนมากว่า 20 ปี โดยมีพันธกิจสำคัญในการวิจัยและพัฒนา เพื่อการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนในด้านต่างๆ ให้บริการเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรให้มีความชำนาญ


จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการภายในห้องปฏิบัติการแสงสยาม ที่แบ่งเป็น 4 จุด ได้แก่ จุดแรก เป็นผลงานวิจัยเรื่องการประยุกต์ใช้เทคนิคแสงซินโครตรอน เพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่ การจัดแสดงหน้ากากผ้าไหม จากอำเภอปักธงชัย ที่ใช้รังสีเอกซ์จากแสงซินโครตรอนวิเคราะห์ และออกแบบโครงสร้างสามมิติ


เพื่อป้องกันโควิด-19 และใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์, งานวิจัยเรื่องกระดูกพรุนที่เป็นผลจากการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม เป็นงานวิจัยที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล, การพัฒนาอนุภาคนาโนไขมันเพื่อห่อหุ้ม RNA (อาร์เอ็นเอ) สำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ


จุดที่ 2 เป็นผลงานวิจัย เพื่อการใช้ประโยชน์ด้านอาหาร ยา และการเกษตร ได้แก่ การศึกษา "ต้นแจงสุรนารี" ที่พบได้เฉพาะในอำเภอคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา โดยใช้เทคนิคซินโครตรอนอินฟราเรดวิเคราะห์ ความแตกต่างทางชีวเคมี ในเม็ดพันธุ์ต้นแจง พบว่า เม็ดแจงสุรนารีมีไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตสูงกว่าต้นแจง ที่พบจากพื้นที่อื่น , การวิเคราะห์โครงสร้างของโปรตีนในเนื้อสัตว์ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์ให้มีคุณภาพ , และการค้นพบยาต้านเชื้อมาลาเรียชนิดใหม่


จุดที่ 3 เป็นผลงานวิจัย เพื่อการใช้ประโยชน์ด้านวัสดุศาสตร์ อุตสาหกรรม การผลิตชิ้นส่วนสามมิติระดับไมโครเมตร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้แก่ การพัฒนาแก้วชนิดใหม่สำหรับการผลิตแบตเตอรีชนิดของแข็ง ซึ่งทำให้แบตเตอรีมีประสิทธิภาพ การใช้งานที่ยาวนานและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น, การใช้แสงซินโครตรอนเปลี่ยนสีไข่มุกน้ำจืดให้เป็นสีทอง และสร้างลวดลายบนไข่มุก, การวิจัยและพัฒนาฟิล์มคาร์บอนเสมือนเพชร สำหรับอุตสาหกรรมด้านบรรจุภัณฑ์อาหาร และอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เพื่อช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์ และการติดตามอาการของผู้ป่วยเบาหวานจากลมหายใจ


และจุดที่ 4 ผลงานวิจัยด้านโบราณคดี ได้แก่ การใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์ตะกอนดิน จากเขตบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม และมานุษยวิทยาในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา, การไขความลับของทองคำโบราณ และดินแดนสุวรรณภูมิ โดยใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนศึกษาตัวอย่างทองคำโบราณ ที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดี ที่จังหวัดชุมพร ,ระนอง, กระบี่ และอำเภอเขม่าจี เมียนมา และการศึกษาแผ่นทองคำโบราณจากปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง และปราสาทหินพนมวัน เพื่อวิเคราะห์ความบริสุทธิ์ของทองคำโบราณ


เวลา 16.10 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปทัศนศึกษาอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของปราสาทพิมาย โดยเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ มีอายุราว 1,000 ปี แผนผังเมืองพิมายเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำล้อมรอบ ประกอบด้วย แม่น้ำมูล ลำน้ำเค็ม และลำน้ำจักราช คำว่า "พิมาย" น่าจะเป็นคำเดียวกับคำว่า "วิมายะ" ที่ปรากฏอยู่ในจารึกภาษาเขมร จึงเชื่อว่าเมืองพิมาย เป็นเมืองที่มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรเขมรโบราณ


กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองพิมาย เมื่อปี 2479 โดยร่วมกับรัฐบาลฝรั่งเศส บูรณะปราสาทประธาน รวมทั้ง โบราณสถาน พร้อมกับจัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พิมายขึ้น และดำเนินการบูรณะปรับปรุงโบราณสถานอื่นๆ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด เมื่อปี 2532


ปราสาทพิมาย มีองค์ประกอบ อาทิ สะพานนาคราช ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าโคปุระด้านทิศใต้ สร้างด้วยหินทราย มีผังเป็นรูปกากบาท ราวสะพานทำเป็นลำตัวนาค และปลายราวสะพาน ทำเป็นรูปนาคราชชูคอแผ่พังพานเป็นรูปนาค 7 เศียร เป็นลักษณะที่นิยมในศิลปะเขมรแบบนครวัด ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 สะพานนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้น การเดินทางเข้าสู่ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาล ที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ ทั้งยังมีซุ้มประตู หรือโคปุระ


ตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน ถัดจากกำแพงแก้วเข้ามา ถือว่าเข้าสู่ดินแดนสวรรค์ จะมีชาลาทางเดิน, บรรณาลัย, สระน้ำ ตั้งอยู่ที่มุมทั้ง 4 ทิศ, ระเบียงคต มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบปราสาทประธาน และมีซุ้มประตูอยู่กึ่งกลางทั้ง 4 ด้าน ซุ้มประตูระเบียงคตด้านทิศใต้ จารึกอักษรขอมโบราณภาษาเขมร ชื่อ "กมรเตงชคตวิมาย" และกล่าวถึงการสร้างรูปเคารพสำคัญชื่อ "กมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัย"


ภายในลานชั้นในตรงกลาง เป็นที่ตั้งของปราสาทประธาน เป็นศูนย์กลางที่สำคัญ สร้างด้วยหินทรายขาว สูง 28 เมตร หันหน้าไปทางทิศใต้ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 -17 ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ มณฑปและเรือนธาตุ มีการสลักลวดลายประดับตามส่วนต่างๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง ด้านนอกสลักเป็นภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ด้านในสลักภาพเกี่ยวกับ พระพุทธศาสนาคติมหายาน


ภายในเรือนธาตุเป็นส่วนสำคัญที่สุดเรียกว่า "ห้องครรภคฤหะ" เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก บริเวณพื้นมุมห้อง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีร่องน้ำมนต์ ต่อลอดผ่านพื้นห้องไปทางด้านนอก เรียกว่า"ท่อโสมสูตร" นอกจากนี้ ในลานชั้นในยังมีพลับพลา, หอพราหมณ์,ปรางค์หินแดง, ปรางค์พรหมทัต ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00 ถึง 18.00 น.