พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ พื้นที่ จ.พัทลุง และ จ.นราธิวาส

โดย chiwatthanai_t

20 ก.ย. 2565

78 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง และนราธิวาส


วันนี้ เวลา 09.09 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปยังมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2563 โอกาสนี้ พระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ,พระราชทานเกียรติบัตรแก่อาจารย์และบุคลากรตัวอย่าง รวม 7 คน พร้อมกับพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ในระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี จำนวน 2,112 คน


ในการนี้ พระราชทานพระราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ความว่า "ปัจจุบัน เทคโนโลยีต่าง ๆ เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนเราอยู่ตลอดเวลา เป็นต้นว่า เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ หลายช่องทาง ทำให้สามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก ไปสู่ผู้คนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว ลักษณะดังกล่าวนี้ แม้จะมีคุณอนันต์ แต่ก็อาจก่อให้เกิดโทษมหันต์ได้ ถ้ามีการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จ บัณฑิตผู้มีปัญญา จึงต้องระมัดระวัง ในการเผยแพร่และการรับ ข้อมูลข่าวสาร โดยใช้วิจารณญาณพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า ข้อมูลข่าวสารใดเป็นจริง ถูกต้อง หรือเป็นเท็จ ถูกบิดเบือน วิจารณญาณในการพินิจ พิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารนี้ มีคุณประโยชน์ อย่างยิ่ง


ทั้งในการดำเนินชีวิต และการประกอบกิจการงาน ในการดำเนินชีวิต จะช่วยให้แต่ละคน เป็นผู้รู้เท่าทันสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ตื่นตะหนก หลงคิด หลงทำ ไปตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ เป็นโทษ อันจะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหายแก่ตนเองและผู้อื่น ส่วนในการประกอบกิจงาน จะเกื้อกูลให้แต่ละคน สามารถพิจารณา ตัดสินใจ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ส่งผลให้งานที่ทำสำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพ อาจกล่าวได้ว่า วิจารณญาณในการรับรู้ และกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร เป็นเสมือนเกราะกำบังความผิดพลาด และความเสื่อมเสีย ที่อาจเกิดขึ้นแก่บุคคลและส่วนรวมได้ บัณฑิตทุกคนจึงควรสร้างสมอบรมไว้ ให้กล้าแข็ง เที่ยงตรงอยู่เสมอ"


เวลา 15.02 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงาน ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส บนพื้นที่ 308 ไร่ เป็นแปลงสาธิต ทดลอง วิจัยด้านดิน และด้านพืช อาทิ แปลงอนุรักษ์พันธุ์บัว ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นที่ 7 ไร่ ได้รวบรวมพันธุ์บัวในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จำนวน 125 ตัวอย่าง จำแนกเป็น 3 วงศ์ คือ บัวปทุมชาติ , บัวอุบลชาติ และบัวบา


โครงการสาธิตการเลี้ยงชันโรง ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์อิตาม่า และสายพันธุ์ขนเงิน โดยเลี้ยงแบบเดิม ใช้พื้นที่กว้าง วางกล่องเป็นแนวราบ และเลี้ยงแบบคอนโด ใช้พื้นที่น้อย เหมาะกับชันโรงบ้านที่ตัวเล็ก เก็บน้ำผึ้งได้ทุก 3 – 5 เดือน ราคากิโลกรัมละ 700 - 1,200 บาท


กิจกรรมแปลงอนุรักษ์พันธุ์บอนสี ได้รวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์บอนสี จำนวน 64 สายพันธุ์ จำแนกตามรูปร่างและลักษณะของใบ ได้แก่ บอนใบยาว, บอนใบกลม และบอนใบไผ่ ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ , ผสมเกสร และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ


จากนั้น ทอดพระเนตรสวน 72 พรรษา ในพื้นที่ 15 ไร่ ซึ่งปลูกตามหลัก "เบญจเกษตร" ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มี 5 ระดับ ได้แก่ ไม้สูง , ไม้กลาง , ไม้เตี้ย, ไม้เลื้อย และ ไม้หัว รวมพันธุ์ไม้จำนวน 380 ชนิด แบ่งเป็นพันธุ์ไม้พืชเมืองภาคใต้ อาทิ ลังแข เงาะเจ๊มง , พันธุ์ไม้หายาก อาทิ กระบาก ,จันทร์กระพ้อ และพันธุ์ไม้ทั่วไป ปีนี้สำรวจพบพันธุ์ไม้ที่มีสรรพคุณทางยา จำนวน 346 ชนิด ได้แก่ ดีปลี ,จิงจูฉ่าย และว่านเอ็นเหลือง


นอกจากนี้ ยังสนองพระราชดำริ จัดทำแปลงสาธิตการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด และทดลองปลูกอ้อยคั้นน้ำ พืชเศรษฐกิจที่เกษตรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ความสนใจ ได้แก่ อ้อยพันธุ์สิงคโปร์ , พันธุ์สุพรรณบุรี 50 (ห้า -สิบ) และพันธุ์สุพรรณบุรี 72 (เจ็ด-สิบ-สอง) มีเกษตรกร 30 คน สนใจนำไปประกอบอาชีพ มีรายได้เฉลี่ยปีละ 15,000 บาทต่อไร่


ส่วนการปลูกบัวในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดที่ผ่านการปรับปรุง พบว่า บัวหลวงสายพันธุ์แพร่ เบอร์ 45 (สี่-สิบ-ห้า) และบัวหลวงสายพันธุ์ขาวสงขลา มีศักยภาพการผลิตดอก และเมล็ดดีที่สุด จึงจัดทำแปลงปลูกบัวหลวงผลิตดอก พันธุ์สัตตบุษย์ (บัวฉัตรขาว) และสัตตบงกช (บัวฉัตรแดง) จะให้ผลผลิตดอกตูม หลังจากปลูก 2 – 3 เดือน ส่วนบัวหลวงผลิตเมล็ด สายพันธุ์แพร่ เบอร์ 45 และสายพันธุ์ขาวสงขลา จะเก็บฝักได้ หลังดอกบานประมาณ 14 – 27 วัน


ขณะที่การปลูกและขยายพันธุ์กระจับ จากพื้นที่บ้านสะพานหลวง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี นำมาทดลองปลูกภายในศูนย์ฯ พบว่า สามารถปลูกได้ในพื้นที่น้ำท่วม โดยค่าความเป็นด่างที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ไม่เกิน 8.2 ซึ่งได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ได้ผลผลิตกว่า 1,100 กิโลกรัมต่อไร่ ราคากิโลกรัมละ 30 บาท จากการดำเนินงาน สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้แก่หน่วยงานราชการ และประชาชนกว่า 4,800 คน ที่เข้ามาศึกษาดูงาน นำไปต่อยอดประกอบอาชีพต่อไป