พระราชสำนัก

เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ทรงเป็นประธานการประชุม ติดตามการดำเนินงานมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ 3 มูลนิธิ

โดย paweena_c

21 ก.ค. 2565

72 views

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นประธานการประชุม ติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ 3 มูลนิธิ



วันนี้ เวลา 15 นาฬิกา 18 นาที สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จไปยังห้องประชุม อาคาร 606 สำนักพระราชวัง สนามเสือป่า ทรงเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ 3 มูลนิธิ ประกอบด้วย มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์


ซึ่งมีระเบียบวาระประกอบด้วย ผลการดำเนินงานของทั้ง 3 มูลนิธิ และแผนการดำเนินงานระหว่างเดือนสิงหาคม 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2566 ตลอดจนการเผยแพร่ผลงานของมูลนิธิฯ โดยทั้ง 3 มูลนิธิ ตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่


โดยมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องการจัดตั้ง 3 มูลนิธิ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ



มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นการพัฒนาต่อยอด จากโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ (หมู่บ้านสาละวะ และหมู่บ้านไล่โว่) จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นชุมชนอยู่ติดชายแดน ถือว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นพื้นที่แหล่งมรดกโลกของประเทศไทย ที่ควรได้รับการพัฒนาและอนุรักษ์อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุล โดยแผนการดำเนินงาน จะเน้นการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ด้านเศรษฐกิจ, ด้านการส่งเสริมเพื่ออนุรักษ์ผ้าทอกะเหรี่ยง และด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน



มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เกิดขึ้นจากน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงห่วงใยประชาชนที่ประสบปัญหาช้างป่าออกมาสร้างความเดือดร้อนในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหา สร้างความสมดุลระหว่างคนและช้างป่า



แบ่งพื้นที่การดำเนินงานเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พัฒนาแหล่งอาหารช้างป่า , จัดทำแหล่งน้ำและปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม, จัดพื้นที่แนวกันชนหรือจุดพักช้าง เพื่อตรึงช้างให้ห่างจากชุมชน และกำหนดเส้นทางการพาช้างกลับคืนสู่ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ด้วยการปลูกพืชสมุนไพร เพื่อเป็นแนวกันช้าง รวมทั้งจัดทำระบบติดตามและเฝ้าระวังช้างป่า



ปัจจุบัน มีหมู่บ้านคชานุรักษ์ 8 หมู่บ้าน และหมู่บ้านเครือข่ายขยายผล 43 หมู่บ้าน โดยชาวบ้านมีความเข้าใจในพฤติกรรมของช้างมากขึ้น ทางมูลนิธิยังเข้าไปส่งเสริมอาชีพ แนะนำให้ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก พืชที่ช้างไม่ชอบ รวมถึงพัฒนากลุ่มอาชีพ และขยายผลการเรียนรู้เกี่ยวกับช้างสู่โรงเรียนในพื้นที่



และมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเห็นว่าสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี สำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ต้องขัง ทรงเห็นว่าการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ การได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง เป็นสิทธิของผู้ต้องขังที่ควรได้รับเท่าเทียมกับบุคคลภายนอกตามหลักมนุษยธรรม



จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ริเริ่มโครงการฯ ขึ้น เพื่อเติมเต็มสิทธิของผู้ต้องขัง ให้ได้รับการบริการทางสุขภาพเฉกเช่นประชาชนทั่วไป พร้อมทั้งส่งเสริมการมีสุขภาพกาย สุขภาพใจ ทัศนคติที่ดี และพัฒนาการเรียนรู้ของผู้ต้องขัง เพื่อคืนคนดีสู่สังคม


ในการนี้ มีพระดำรัสเกี่ยวกับการดำเนินงานทั้ง 3 มูลนิธิ โดยเฉพาะมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์