พระราชสำนัก

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงงานร่วมสัตวแพทย์ ม.เกษตรฯ - ทรงบรรยายพิเศษ พระราชทานแก่ นศ.แพทย์ ม.มหิดล

โดย paweena_c

13 ก.ค. 2565

20 views

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ ในวันนี้ดังนี้


วันนี้ เวลา 08.00 น. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา บรมราชินีนาถ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ทรงงานวิสัญญีสัตวแพทย์ ร่วมกับทีมสัตวแพทย์หน่วยศัลยกรรมฯ เพื่อผ่าตัดรักษาและทำหมันสุนัข จำนวน 4 ตัว ได้แก่ สุนัขพันธุ์ French bulldog อายุ 6 ปี ผ่าตัดก้อนเนื้อที่หนังตาบนด้านขวา , สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ อายุ 2 ปี ผ่าตัดตัดถุงหุ้มอัณฑะ , สุนัขพันธุ์ผสม ผ่าตัดเนื้องงอกบริเวณหน้าอกด้านซ้าย และตัดน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ เพื่อส่งตรวจชิ้นเนื้อ , สุนัขพันธุ์ Amerrican Bully อายุ 7 ปี ผ่าตัดมะเร็งที่ขาหลังทั้งสองข้าง



โดยทรงวางยานำสลบ และให้ยาสลบเข้าหลอดเลือด ทรงใช้ยาดมสลบเพื่อคงภาวะการสลบ ตลอดระยะเวลาการผ่าตัด และทรงติดตามเฝ้าระวังสัญญาณชีพของสุนัขผ่านจอมอนิเตอร์ ที่แสดงผลอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ความดันโลหิต รวมถึงอุณหภูมิของร่างกาย เพื่อทรงประเมินความปลอดภัยของสุนัข ระหว่างการผ่าตัดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันการรักษาเนื้องอกในสัตว์เลี้ยง มีหลายวิธีทั้งการผ่าตัด การให้เคมีบำบัด การฉายรังสีรักษา ซึ่ง การตรวจวินิจฉัยเนื้องงอกอย่างรวดเร็ว จะช่วยตอบสนองการรักษาได้เป็นอย่างดี



เวลา 14.00 น. เสด็จไปยังอาคารปฏิบัติการวิจัย บริเวณตำหนักพิมานมาศ จังหวัดชลบุรี ทรงบรรยายพิเศษ พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยายาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ เรื่องการควบคุมการเพิ่มจำนวนของเซลล์ การเกิดเซลล์ตาย และ เมแทบอลิซึม ของเซลล์มะเร็ง ซึ่งเกี่ยวกับ วัฏจักรของเซลล์ หรือ วงจรการแบ่งตัวของเซลล์ มี 4 ระยะ



โดยในแต่ละระยะ จะมีจุดที่ตรวจสอบคุณภาพการทำงานของเซลล์ ซึ่งปกติร่างกายจะควบคุมให้มีความสมดุล หากเกิดความผิดปกติ ก็จะนำไปสู่การเป็นมะเร็ง ความเข้าใจในเรื่องนี้ จะช่วยในการวินิจฉัยโรคมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ไปจนถึงการพัฒนายาที่จะมุ่งเป้า ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น



นอกจากนี้ทรงบรรยาย เรื่อง "กลไกการเกิดพยาธิสภาพของมะเร็งในระดับโมเลกุลและระดับเซลล์: กุญแจไปสู่การรักษาในอนาคต" ซึ่งในปัจจุบัน มีการใช้เทคนิคการตรวจสอบ การเปลี่ยนแปลงและแสดงออกของยีนต่าง ๆ ในผู้ป่วยแต่ละคน ทำให้พยากรณ์โรคได้แม่นยำมากขึ้น ช่วยให้แพทย์เลือกแผนการรักษาและยา ที่ตรงกับโรค ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น และอาจทำให้หายขาดได้



โดยทรงยกตัวอย่าง การพัฒนายา กลีเวค (Gleevec) หรือยา อิมาทินิบ (Imatinib) ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดชนิดเรื้อรัง ซึ่งถือว่าเป็นยาตัวแรก ที่พิสูจน์ให้เห็นความสำเร็จ ในการรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า โดยใช้ข้อมูลพันธุกรรมที่จำเพาะมากของมะเร็ง



ความรู้เรื่อง "การเกิดมะเร็ง (Oncogenesis)" ที่ทรงบรรยายพระราชทาน ได้สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับนักศึกษาแพทย์ ตั้งแต่พื้นฐานการเกิดโรค กลไกการเกิดพยาธิสภาพของมะเร็ง ในระดับโมเลกุลและระดับเซลล์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ที่จะนำไปสู่การพัฒนา วิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็งตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น จนถึงการพัฒนายา ที่มีคุณสมบัติเฉพาะอย่างหลากหลาย นำไปสู่การรักษาแบบมุ่งเป้า และมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม