พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงนำทัศนศึกษาโบราณสถาน และสถานที่สำคัญในพื้นที่กรุงเทพฯ

โดย paweena_c

12 ก.ค. 2565

93 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำข้าราชการและนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทัศนศึกษาโบราณสถาน และสถานที่สำคัญในพื้นที่กรุงเทพมหานคร


วันนี้ เวลา 08.37 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ ทรงนำข้าราชการและนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 4 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทัศนศึกษาโบราณสถาน และสถานที่สำคัญในพื้นที่กรุงเทพมหานคร


ในการนี้ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนทรงพระดำเนินไปยังอาคารท้องพระโรง ทอดพระเนตรวีดิทัศน์เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ของพระราชวังเดิม หรือ พระราชวังกรุงธนบุรี ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 2311 ทรงใช้เป็นที่ประทับ และสถานที่ทรงว่าราชการ


ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้พระราชทานพระราชวังกรุงธนบุรี ให้เป็นที่ประทับแก่พระราชวงศ์ชั้นสูง และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ และกองบัญชาการกองทัพเรือ มาจนถึงปัจจุบัน


สำหรับ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ เป็นโบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่ง ภายในพระราชวังเดิม แต่เดิมคือป้อมวิไชยเยนทร์ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีลักษณะเป็นป้อมหอรบ สำหรับใช้ควบคุมเส้นทางเดินเรือ บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันใช้เป็นที่ยิงสลุตในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ


ทั้งนี้ พระราชวังเดิม ได้รับการบูรณะใหม่ในปี 2538 โดย "มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม" และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานที่ปรึกษาโครงการบูรณะ จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ สะท้อนให้เห็นความงดงามในยุคสมัยของกรุงธนบุรี และในปี 2547 ได้รับรางวัลอนุรักษ์โบราณสถานดีเด่น จากองค์การยูเนสโกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค เพื่อประกาศยกย่องมรดกของแผ่นดิน


เวลา 10.07 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยัง อาสนวิหารอัสสัมชัญ เขตบางรัก ทรงนำข้าราชการและนักเรียนนายร้อยฯ ฟังบรรยาย "ประวัติศาสตร์พระศาสนจักรโรมันคาทอลิกในไทย และอาสนวิหารอัสสัมชัญ" ความเป็นมาและเหตุการณ์สำคัญในการเผยแผ่คริสต์ศาสนา นับตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งคริสต์ศาสนิกชนเริ่มก่อตั้งเป็นชุมชน ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 11 สังคมณฑลในประเทศไทย


โดย "อาสนวิหารอัสสัมชัญ" หรือ วัดอัสสัมชัญ จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2407 ปัจจุบันได้เก็บรวมรวบสิ่งของสำคัญ ทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย อาทิ เชิงเทียนเครื่องสังเค็ตในงานพระราชพิธี ถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว , พจนานุกรมฝรั่งเศส-สยาม เขียนขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ถือว่ามีความเก่าแก่ที่สุด, และพระราชหัตถเลขา ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 เมื่อปี 2440


เวลา 12.49 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย เขตสาทร ทอดพระเนตรนิทรรรศการภาพ "ร่องรอยเยอรมันในกรุงเทพฯ ร่องรอยประเทศไทยในเบอร์ลิน" ที่สะท้อนความเชื่อมโยง ของวิถีชีวิตชาวไทยในเยอรมัน และสถาปัตยกรรมเยอรมันในไทย รวมทั้งการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในทุกระดับชั้น


โอกาสนี้ ทรงฟังการบรรยายสรุป หัวข้อ "ประวัติและกิจกรรมของสถาบันเกอเธ่ ในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ในต่างประเทศ" โดยสถาบันเกอเธ่ เป็นสถาบันด้านวัฒนธรรมที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2503 และเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเยอรมัน-ไทย


นอกจากนี้ ยังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และสถานศึกษา จัดอบรมเพื่อพัฒนาครูสอนภาษาเยอรมัน รวมไปถึงกิจกรรมด้านภาษา และวัฒนธรรมสำหรับนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่สนใจสามารถใช้บริการห้องสมุด ชมนิทรรศการ และขอคำแนะนำ ด้านการเตรียมพร้อมเพื่อศึกษาต่อในเยอรมนี ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


เวลา 13.47 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยัง ที่ทำการหอการค้าเยอรมัน - ไทย ณ อาคารเอ ไอ เอ สาทรทาวเวอร์ เขตสาทร ทรงนำข้าราชการและนักเรียนนายร้อยฯ ฟังบรรยาย หัวข้อ "160 ปี ความสัมพันธ์เยอรมัน-ไทย" ซึ่งให้การสนับสนุนการค้าระหว่างบริษัทไทยและเยอรมนี มากว่า 60 ปี


โดยเยอรมนี เป็นประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยปี 2564 ไทยส่งออกสินค้าไปยังเยอรมนี รวมกว่า 6.93 พันล้านเหรียญยูโร สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ , อาหาร และเครื่องจักร สินค้านำเข้าจากเยอรมนีที่สำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ,เครื่องจักรไฟฟ้า, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ


สำหรับหอการค้าเยอรมัน-ไทย เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร มีภารกิจให้การสนับสนุนแก่นักลงทุนทั้งชาวไทย และชาวเยอรมัน มีบริษัทสมาชิกประมาณ 600 บริษัท นอกจากนี้ยังให้การส่งเสริมการค้า การลงทุนอุตสาหกรรมและบริการต่าง ๆ รวมถึงงานด้านการศึกษา อาทิ "โครงการเยอรมัน-ไทย เพื่อความเป็นเลิศ ในการศึกษาทวิภาคี มาตรฐานเยอรมัน (GTDEE) " เพื่อการพัฒนาช่างเทคนิค จากสถาบันอาชีวศึกษาในไทย และบริษัทเอกชนที่อยู่ในความร่วมมือ เพื่อให้ได้ช่างเทคนิค ที่มีทักษะและความรู้ ตามมาตรฐานของเยอรมัน


เวลา 14.46 น. เสด็จพระราชดำเนินไปชั้น 19 อาคารเอ ไอ เอ สาทร ทาวเวอร์ ทอดพระเนตรนิทรรศการประวัติของบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งในประเทศไทยรถเมอร์เซเดส-เบนซ์คันแรก สั่งซื้อโดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2447 ชื่อว่า "แก้วจักรพรรดิ"


และอีกหนี่งความภาคภูมิใจของบริษัท คือ การที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยือนโรงงาน ณ เมืองสตุตการ์ด ประเทศเยอรมนี ในปี 2503


โดยในปีนี้บริษัทจะนำเสนอรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่ผลิตในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ด้านการทำประโยชน์เพื่อสังคม บริษัทฯได้สนับสนุนทุนการศึกษา แก่นักเรียนโรงเรียนเยาววิทย์ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ที่รองรับเด็กและเยาวชน ที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์สึนามิเป็นเวลากว่า 17 ปี


ต่อจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปชั้น 17 ซึ่งเป็นที่ทำการบริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด ทรงฟังการบรรยาย "ประวัติและนวัตกรรมของบริษัทฯ ในประเทศไทย ซึ่งบริษัทฯ ประกอบด้วย 3 หน่วยธุรกิจ คือ สีเคลือบ กาว และ ผลิตภัณฑ์เฉพาะการใช้งานพิเศษ , โพลีคาร์บอเนต และโพลียูรีเทน


มีโรงงานผลิตโพลีคาร์บอเนตที่ทันสมัยระดับโลก อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และห้องปฏิบัติการทดสอบ พัฒนาผลิตภัณฑ์โพลียูรีเทน ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นและความร้อน ตลอดจนการใช้งานในลักษณะพิเศษ ของผู้ผลิตอุปกรณ์ยานยนต์ อุปกรณ์รองเท้า และอุปกรณ์กีฬา


จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปห้องอเนกประสงค์ ชั้น 14 อาคารเอ ไอ เอ สาทร ทาวเวอร์ พระราชทานพระราชวโรกาส ให้นักเรียนนายร้อย ชั้นปีที่ 4 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งศึกษาวิชาเลือกเสรีประวัติศาสตร์ยุโรป จำนวน 36 คน กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในโอกาสที่ทรงนำนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ามาทัศนศึกษา


โอกาสนี้พระราชทานพระราชดำรัส ความโดยสรุปว่า "การได้มาทัศนศึกษาครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นศิลปวัฒนธรรม เทคโนโลยีและความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งในการเรียนนั้นต้องมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ขอให้นักเรียนนายร้อย นำความรู้ที่ได้ กลับไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วย"

Related News