พระราชสำนัก

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงบรรยายแก่นศ.แพทย์ ปี 4 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ผ่านสื่อออนไลน์

โดย parichat_p

6 ก.ค. 2565

22 views

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยายพิเศษ พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์


วันนี้ เวลา 13.30 น. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ อาคารปฏิบัติการวิจัย บริเวณตำหนักพิมานมาศ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ทรงบรรยายในรายวิชาหัวข้อที่ 3 เรื่อง อองโคยีน หรือยีนมะเร็ง กับการควบคุมการเจริญของเซลล์ และหัวข้อที่ 4 เรื่อง ยีนยับยั้งการเกิดมะเร็ง พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์


สำหรับ โรคมะเร็ง มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของยีน ที่ควบคุมการเจริญและการแบ่งเซลล์ ตามปกติร่างกายจะมียีนที่เรียกว่า โปรโต-อองโคยีน ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของเซลล์ แต่หากยีนในกลุ่มนี้เกิดการกลายพันธุ์ จะทำให้กลายเป็นยีนที่สามารถก่อมะเร็ง เรียกว่า อองโคยีน


โดยทรงบรรยายถึง การค้นพบอองโคยีนจากการศึกษายีนในไวรัส ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็ง ตัวอย่างเช่น เกิดจากยีนของไวรัสแทรกเข้าไปในยีนของเซลล์ จนเกิดการกลายพันธุ์ ซึ่งการย้ายตำแหน่งของโครโมโซม ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอองโคยีนได้ ขณะที่ในระดับโมเลกุล การควบคุมการเจริญของเซลล์ โดยเป็นกลุ่มของโปรตีนที่ทำหน้าที่หลายระดับ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดอองโคยีน จะมีการสร้างโปรตีนที่มากกว่าปกติ หรือ มีโครงสร้างและหน้าที่เปลี่ยนไป อาจก่อให้เกิดความผิดปกติของยีน จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด


ในส่วนของ ทิวเมอร์-ซัพเพรสเซอร์-ยีนส์ ทรงบรรยายถึงการทำหน้าที่ ที่ตรงข้ามกับอองโคยีน ในภาวะปกติยีนกลุ่มนี้จะควบคุมการเจริญของเซลล์ โดยจะสร้างโปรตีนที่ยับยั้งการเจริญของเซลล์ ไม่ให้มีมากเกินไป แต่เมื่อยีนเหล่านี้เกิดการกลายพันธุ์หรือสูญหายไปจากเซลล์ จะไม่สามารถควบคุมการเจริญของเซลล์ได้ เซลล์จึงเพิ่มจำนวนอย่างไม่หยุดยั้ง และเกิดมะเร็งขึ้นได้ ในการบรรยายครั้งนี้ ทรงยกตัวอย่างยีนยับยั้งการเกิดมะเร็ง


ได้แก่ ยีน p53 โดยพบว่า มีการกลายพันธุ์ของยีนนี้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยมะเร็ง โดยจะสร้างโปรตีนที่ทำหน้าที่จำเพาะ ในการป้องกันการเกิดเซลล์ที่ผิดปกติ และคอยตรวจสอบความผิดปกติทางพันธุกรรม ทรงบรรยายถึง กลไกการควบคุมการทำงานของยีนนี้ และยกตัวอย่าง การศึกษาการเกิดการกลายพันธุ์ของยีน p53 ในโรคมะเร็งหลอดอาหาร และ มะเร็งลำไส้


ในตอนท้าย ทรงสรุป เปรียบเทียบคุณลักษณะของอองโคยีน และ ทิวเมอร์-ซัพเพรสเซอร์-ยีนส์ ให้นักศึกษาได้เข้าใจชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็งในระดับโมเลกุล ที่จะนำไปสู่การพัฒนายาและการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

Related News