พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ใน จ.เชียงใหม่

โดย panwilai_c

4 ก.ค. 2565

20 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่



วันนี้ เวลา 09.20 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการทหารพันธุ์ดี กองพลทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ



อาทิ โครงการเก็บรักษาพันธุกรรมพืช เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ ตามพระราชดำริฯ ที่เก็บรักษาพันธุกรรมพืชผัก รวม 2,077 รายการ และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ วิจัยปรับปรุงพันธุ์ ตลอดจนอบรมให้ความรู้ ที่เป็นประโยชน์แก่กำลังพลและประชาชนในพื้นที่



ทั้งนี้ สำนักงาน กปร. และกรมชลประทาน ได้พิจารณาจัดหาน้ำสนับสนุนโครงการ ด้วยการก่อสร้างสถานีสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมระบบกระจายน้ำ ซึ่งจะสามารถส่งน้ำได้เพียงพอตลอดทั้งปี



จากนั้น ประทับรถรางพระที่นั่งไปยังโครงการรวบรวมพันธุ์มะม่วงพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สอนวิธีขยายพันธุ์ โดยการเสียบยอดมะม่วงพันธุ์ดี เข้ากับต้นตอเดิม โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมะม่วงกินดิบ กลุ่มมะม่วงกินสุก และกลุ่มมะม่วงทะวาย มาทำการเสียบยอดพันธุ์ จำนวน 22 สายพันธุ์ รวม 2,200 ยอด ซึ่งในปีนี้ มีมะม่วงคู่ผสมระหว่างมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง กับมะม่วงโชคอนันต์ ออกผลลูกผสมผลแรกแล้ว



ส่วนโครงการปรับปรุงพันธุ์ไม้ผล ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ตามพระราชดำริฯ ที่เริ่มเมื่อปี 2561 บนพื้นที่ 29 ไร่ ดำเนินกิจกรรม โดยการรวบรวมพันธุ์ฝรั่ง 78 พันธุ์ และเสาวรส 56 พันธุ์ , มีการผสมข้ามสายพันธุ์ ด้วยการปลูกทดสอบ 44 คู่ผสม โดยมีคู่ผสมระหว่างฝรั่งแดง และฝรั่งกิมจู ให้ผลที่โดดเด่นมาก คือ มีผลขนาดใหญ่



นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยี DNA มาช่วยในการตัดสินใจ , การใช้ประโยชน์จากพันธุกรรม ในการคัดเลือกพันธุ์ และอบรมการแปรรูป นอกจากนี้ในพื้นที่ ยังเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ผลโบราณ อาทิ มะหวด มะพูด รวมทั้งเป็นกิจกรรมการเรียนการสอน การวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่กำลังพลด้วย



จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการทหารพันธุ์ดี บนพื้นที่ 73ไร่ ที่จัดทำเป็นศูนย์สาธิต มีการปลูกข้าวเหนียวสันป่าตอง ในโครงการแปลงนาสาธิตเกษตรอินทรีย์ การปลูกพืชผักหมุนเวียน ด้านการปศุสัตว์ มีการเลี้ยงไก่กระดูกดำ หมูป่า สุกรพันธุ์เหมยซาน กระต่ายพันธุ์เนื้อนิวซีแลนด์ไวท์ ส่วนด้านการประมง เลี้ยงปลานิลจิตลดา 3 และเลี้ยงปลาในกระชัง โอกาสนี้ได้พระราชทานอาหารปลา ในอ่างเก็บน้ำขนาด 10 ไร่ ของโครงการฯ



ต่อจากนั้น ทรงเปิดป้ายศูนย์ผลิตพันธุ์สัตว์ปีกพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ที่มีการเลี้ยงและเพาะพันธุ์เป็ด พันธุ์ไข่กากีแคมป์เบลล์ และเป็ดบางปะกง เพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงเรียน ราษฎรในพื้นที่ทุรกันดาร ปัจจุบันแจกจ่ายเป็ดพันธุ์ไข่ไปแล้วกว่า 5,000 ตัว โอกาสนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เป็ดกบินทร์บุรี และลูกเป็ดกบินทร์บุรี พร้อมตู้ฟักไข่ ตู้เกิด และจาน-กก



โอกาสนี้ พระราชทานพระราชดำรัส แก่ทหารพันธุ์ดีกองพลทหารราบที่ 7 และเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง



เวลา 15.00 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดอุโมงค์(สวนพุทธธรรม) อำเภอเมือง ทอดพระเนตรภาพยนตร์ "จากไป กลับมา" และวีดีทัศน์สรุปนิทรรศการ รำลึก 20 ปี การจากไปของมณเฑียร บุญมา ศิลปินผู้บุกเบิก แนวทางศิลปะร่วมสมัยของไทย ซึ่งนายนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ลูกศิษย์ ศิลปินผู้ได้รับรางวัลศิลปาธร ปี 2553 จัดขึ้น เพื่ออุทิศและคารวะแด่อาจารย์



จากนั้น ทอดพระเนตรผลงานจิตรกรรม "จากไป กลับมา" ภายในโรงภาพปริศนาธรรม ซึ่งย้อนระลึกถึงชีวิตการทำงาน ของอาจารย์มณเฑียร เป็นนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย โดยผลงาน " วิปัสนา ภาชนะ" สร้างขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ได้รับแรงบันดาลใจจากการบำเพ็ญทุกกรกิริยา ของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วยชามดินเผา สื่อถึงความสมดุลของกายและจิตที่เกิดสมาธิ



อาจารย์มณเฑียร จบการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่าง และระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศอิตาลี และ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ต่อมาได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้เสนอแนะระบบการเรียนแบบสตูดิโอ หรือ "อเตอริเยร์" มีส่วนร่วมในการก่อตั้งกลุ่ม "เชียงใหม่จัดวางสังคม" โดยใช้พื้นที่วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม จัดกิจกรรม และเทศกาลศิลปะ ภายในงานยังจัดแสดงหนังสือการ์ตูน อุโมงค์อะไรเอ่ย วาดโดย นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล เล่าถึงประวัติศาสตร์วัด และชีวิตของอาจารย์มณเฑียร ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2543



สำหรับโรงภาพปริศนาธรรม สร้างขึ้นเมื่อปี 2515 ได้รับแรงบันดาลใจจากโรงมหรสพทางจิตวิญญาน หรือโรงหนังแห่งสวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดแสดงภาพปริศนาธรรม โดยอาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินแห่งชาติ นักศึกษา และศิลปินท้องถิ่น บริเวณรอบอาคารจัดแสดงภาพปูนปั้น ซึ่งจำลองมาจากหินสลัก เล่าเรื่องราวพุทธประวัติ เมืองสาญจี และถ้ำอชันตา สาธารณรัฐอินเดีย



วัดอุโมงค์ สร้างขึ้น พร้อมกับการตั้งเมืองเชียงใหม่เมื่อกว่า 700 ปี โดยพระเจ้ามังรายมหาราช ต่อมาพระเจ้ากือนาธรรมมิกราช ได้สร้างอุโมงค์ขึ้นภายในวัด ครั้นเมื่อพม่าเข้ามาปกครองล้านนา ทำให้วัดอุโมงค์ถูกปล่อยร้าง ในปี 2490 เจ้าชื่น สิโรรส ได้จัดตั้งคณะพุทธนิคมเชียงใหม่ และร่วมกันบูรณะวัดอุโมงค์ รวมถึงวัดร้างข้างเคียง ให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรม โดยท่านพุทธทาสภิกขุ ให้ความช่วยเหลือ พร้อมกับนิมนต์ พระปัญญานันทะภิกขุ มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดฯ