พระราชสำนัก

องคมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการหลวงร้อยรวมพลัง ปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ และติดตามการดำเนินงานมูลนิธิโครงการหลวง

โดย parichat_p

9 มิ.ย. 2565

15 views

องคมนตรี เป็นประธานเปิดกิจกรรม โครงการหลวงร้อยรวมพลัง ปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ และประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง


วันนี้ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานเปิดกิจกรรม "โครงการหลวงร้อยรวมพลัง ปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ" ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวงจัดขึ้น เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2565 และเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน 2565


โดยร่วมกับข้าราชการ หน่วยงาน และบุคลากรของมูลนิธิฯ ปลูกต้นไม้ซึ่งเป็นไม้ใหญ่ มีดอกสีเหลืองและสีม่วง ได้แก่ ราชพฤกษ์ รวงผึ้ง อินทนิล และ อินทรชิต รวมทั้งไม้โตเร็ว ในโครงการป่าชาวบ้าน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ จันทร์ทอง เมเปิลไต้หวัน และการบูร รวม 932 ต้น ในพื้นที่โดยรอบศูนย์วิจัย และพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ที่เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติงานบนพื้นที่สูงแบบครบวงจร


ซึ่งเป็นการดำเนินงานสนองพระบรมราโชบาย การฟื้นฟู รักษา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับการรณรงค์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวของรัฐบาล รวมถึงเป้าหมายในวันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี


จากนั้น องคมนตรีเป็นประธานการประชุมมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อติดตามการดำเนินงาน ของหน่วยงานร่วมสนับสนุนได้แก่ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง สำนักงาน ปปส. ภาค 5 ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ ที่มุ่งต่อยอดแนวทางการขับเคลื่อน ตามมติคณะกรรมการประสานงาน และสนับสนุนงานโครงการหลวง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565


โดยให้ความสำคัญกับอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ , ส่งเสริมการทำการเกษตรแบบประณีต , วางแผนการใช้ที่ดินโดยใช้พื้นที่น้อย , สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา สารชีวภัณฑ์เกษตรทดแทนสารเคมี , สนับสนุนการปลูกไม้ยืนต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และขอให้ทุกหน่วยราชการ เข้าไปศึกษาเรียนรู้งานโครงการหลวง เพื่อขยายผลสู่ประชาชน


รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ช่วยดำเนินงาน ร่วมให้ความสำคัญกับ การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า 5 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ