พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว

โดย pattraporn_a

15 พ.ค. 2565

151 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว


วันนี้ เวลา 09.43 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังอุทยานประวัติศาสตร์ สด๊กก๊อกธม บ้านหนองหญ้าแก้ว อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว ทรงเปิดแพรคลุมป้ายอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม ที่กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ทำการปรับปรุง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติความเป็นมา และชื่นชมความงดงามของแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ


จากนั้นทอดพระเนตรนิทรรศการภายในศูนย์บริการข้อมูล ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวของปราสาทสด๊กก๊อกธม โดยส่วนแรกเป็นการค้นพบปราสาทฯ ในมุมมองของนักวิชาการชาวฝรั่งเศสและชาวไทย , จารึกหลักสำคัญ ซึ่งเป็นหินชนวนสีเทา สร้างขึ้นเมื่อปี 2463 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ 2 ในโอกาสทรงสร้างปราสาทสำเร็จ , การเสด็จพระราชดำเนินเยือนของพระบรมวงศานุวงศ์ และพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อการอนุรักษ์และพัฒนาปราสาท ส่วนที่ 2 เป็นการใช้สื่อวีดีทัศน์ ในการบอกเล่าเรื่องราว ตั้งแต่การสร้างไปจนถึงการบูรณะปราสาท ส่วนที่ 3 จัดแสดงเรื่องราวของปราสาทเขมร ในประเทศไทย อาทิ ปราสาทเขาน้อย และปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว , ปราสาทสด๊กก๊อกธมในแง่มุมต่าง ๆ ผ่านนิทรรศการสื่อผสม


ต่อจากนั้นประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรปราสาทสด๊กก๊อกธม ซี่งเป็นศาสนสถาน ในศาสนาฮินดูแบบไศวนิกาย ในรูปแบบศิลปะเขมรในประเทศไทย ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในภาคตะวันออกของประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อปี 1595 ตามพระราชบัญชาของ พระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ 2 กษัตริย์เขมร เพื่อพระราชทานแด่ "พระกัมรเตงอัญศรีชเยนทรวรมัน" พระราชครูของพระองค์ เดิมชาวบ้านเรียกว่า ปราสาทเมืองพร้าว ต่อมาเรียกชื่อ เป็นภาษาเขมรว่า "สด๊กก๊อกธม" แปลว่า รกไปด้วยต้นกกขนาดใหญ่ ปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี 2444 โดยนายเอเตียน เอโมนิเยร์ นักวิชาการชาวฝรั่งเศส และพบศิลาจารึก ที่มีความสำคัญกว่าจารึกในเขมรทั้งหมด ปราสาทสร้างด้วยหินทราย และศิลาแลง วางผังตามแนวแกนทิศตะวันออก – ตะวันตก มีทางเดินมุ่งเข้าสู่จุดศูนย์กลาง คือ ปราสาทประธาน ที่เปรียบเสมือนเขาไกรลาศ และทางดำเนิน ที่มุ่งเข้าหาปราสาทประธาน เปรียบเสมือนสะพาน ที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์


ซึ่งกรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี 2478 รวมพื้นที่ 641 ไร่ 2 งาน 82 ตารางวา ต่อมา ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาปราสาท ด้วยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) ซึ่งเป็นวิธีประกอบรูปโบราณสถานขึ้น จากซากปรักหักพัง ให้กลับมามีสภาพใกล้เคียงของเดิมให้มากที่สุด จากนั้นได้จัดสร้างศูนย์บริการข้อมูล และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม


โอกาสนี้ทรงฟังบรรยายสรุป ที่ศูนย์วิจัยสหวิทยาการเฉลิมพระเกียรติ 5 รอบ พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพร้ตนราชสุดาฯ โรงเรียนนายร้อย จปร. ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมกันศึกษาเรื่อง สหวิทยาการกับปราสาท อาทิ ระบบจัดการน้ำบริเวณพื้นที่ปราสาท , เรื่องธนาคารน้ำใต้ดิน และที่มาของหินทราย ที่นำมาสร้างปราสาท พบว่ามีธาตุองค์ประกอบคล้ายกับหินบริเวณเขานางซอ จังหวัดสระแก้ว


จากนั้นทอดพระเนตรบาราย ที่ก่อสร้างอยู่นอกกำแพงแก้ว ด้านทิศตะวันออกของปราสาท เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบด้วยคันดิน ชาวเขมรโบราณ ได้นำความรู้เรื่องการชลประทาน มาผสมกับความเชื่อทางศาสนา จนกลายเป็นประเพณีการสร้างบารายคู่กับเทวสถาน มีรูปแบบที่เห็นได้ชัดคือ มีการสร้างแนวคันดินละลม หรือ คันดินรูปตัวแอล จากกำแพงแก้วด้านทิศเหนือ สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบการนำน้ำเข้าสู่บาราย หรือป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่กลุ่มอาคารศาสนสถาน ส่วนการขุดตรวจ ยังไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยของมนุษย์ในอดีต มักพบเศษอิฐ หรือเศษศิลาแลงที่ใช้ก่อสร้างปราสาท ส่วนคูน้ำ คันดินและสระน้ำบริเวณปราสาท ไม่ได้ระบุถึงการนำมาใช้งาน เพื่อการอุปโภค บริโภค หรือมีการเชื่อมทางน้ำมาจากประเทศกัมพูชา

Related News