พระราชสำนัก

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทอดพระเนตรการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคกลาง

โดย panwilai_c

5 พ.ค. 2565

70 views

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทอดพระเนตรการจัดงานแสดง ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคกลาง



วันนี้ เวลา 12 นาฬิกา 10 นาที สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ทรงติดตามการดำเนินงานส่งเสริมงานหัตถกรรมผ้าไทย ตามพระดำริ ในการนี้ ทอดพระเนตรการแสดงรำเถิดเทิงกลองยาวพื้นถิ่นภาคกลาง ของนักเรียนโรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นการละเล่น พื้นบ้านภาคกลางของไทย ที่ได้รับอิทธิพลจากพม่า นิยมเล่นกันในงานเทศกาลรื่นเริง



ในตอนบ่าย ได้ทอดพระเนตรการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคกลาง โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดขึ้นขึ้นตาม "โครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคกลาง" เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูหัตถกรรมทอผ้าแต่ละท้องถิ่น เพื่อยกระดับภูมิปัญญา และสร้างความเชื่อมโยงของกลุ่มผู้ประกอบการและกลุ่มโอทอป ที่นำสินค้าประเภทผ้ามาจัดแสดง 50 กลุ่ม



อาทิ กลุ่มวงเดือนผ้าจกไท-ยวน จังหวัดนครปฐม ที่ทอผ้าซิ่นตีนจกลวดลายโบราณ ตามเอกลักษณ์ของชาวไทย-ยวน ด้วยเส้นไหมย้อมสีธรรมชาติ ปัจจุบันมีการพัฒนาลายผ้าโบราณเข้ากับลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เกิดเป็นลวดลายใหม่ที่สวยงาม, ผ้าด้นมือ ของกลุ่มหัตถกรรมผ้าด้นมือ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่สร้างสรรค์เป็นลายกุหลาบ จากผ้าไหมทอมือย้อมครั่ง ซึ่งทรงแนะนำ ให้พัฒนารูปแบบลวดลาย ให้หลากหลาย เช่น ลายดอกบัว และดอกไม้ต่าง ๆ พร้อมทรงเน้นให้ใช้สีจากธรรมชาติ และขยายกลุ่มสมาชิกเพิ่ม, กลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน จังหวัดปทุมธานี ที่นำใยของต้นกล้วย มาทอเป็นเส้นใย ให้คุณสมบัติเหนียวทนทาน และมันวาว และกลุ่มอาชีพชุมชนท่าทรายผ้าบาติก และมัดย้อม จังหวัดนครนายก ที่นำวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบไม้ต่าง ๆ ที่หาได้ในท้องถิ่นมาพิมพ์ลาย ด้วยเทคนิค Eco-Printing พร้อมกันนี้ ได้พระราชทานลายผ้า "ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา" หนังสือดอนกอยโมเดล หนังสือผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ กลุ่มสีจากหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทย และการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 2 แก่ผู้ประกอบการ OTOP ทั้ง 50 กลุ่ม



โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ สมาชิกศิลปาชีพ จำนวน 22 คน เฝ้า รับพระราชทานคำแนะนำ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้า เครื่องปั้นดินเผา และงานหัตถกรรมจักสาน ให้มีความร่วมสมัย แต่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นธรรมชาติ และการบอกเล่าเรื่องราวประจำภูมิภาค อาทิ การเขียนลวดลายดอกไม้ในพระนามลงบนเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ทั้งแก้วน้ำ จาน ชาม ของกลุ่มสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพศรีบัวทอง จังหวัดอ่างทอง, การปักผ้า และงานจักสานละเอียดลายพิกุล ของสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี



นอกจากนี้ โปรดให้ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าและแฟชั่น ให้คำปรึกษาและคำแนะนำ แก่กลุ่มทอผ้า เพื่อพัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างอาชีพ และรายได้แก่ราษฎร ตลอดจนเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ไว้เป็นมรดกของชาติสืบไป



จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการการดำเนินงานสนองพระดำริของจังหวัดนครปฐม ที่เน้นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากวัสดุธรรมชาติให้สวยงาม ทันสมัย อาทิ งานเปลือกไข่วิจิตรศิลป์ ผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้าย และการจัดทำผ้าทอเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่เน้นการผสมผสานลวดลายโบราณ และการย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ อาทิ ใบส้มโอ มะพร้าวน้ำหอม ดาวเรือง และมะเดื่อ



ก่อนเสด็จกลับ ทอดพระเนตรการแสดงรำแคนรวมญาติชาติพันธุ์พื้นถิ่นภาคกลาง ซึ่งสื่อให้เห็นถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ของจังหวัดนครปฐม อาทิ กะเหรี่ยง มอญ ไทยโซ่ง ไท-ยวน ลาวเวียง ลาวครั่ง ลาวใต้ แต่มีวัฒนธรรม และมีความรัก ความสามัคคี ร่วมกัน