พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา

โดย kodchaporn_j

18 มี.ค. 2565

58 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา



วันนี้ เวลา 08.49 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น เมื่อปี 2522



โดยเป็นศูนย์ศึกษาฯ แห่งแรก ในจำนวน 6 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า และเป็นต้นแบบให้ประชาชนนำไปปฏิบัติ ซึ่งเดิมพื้นที่แห่งนี้ มีสภาพดินเสื่อมโทรม จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นเวลานาน ไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ดินจืดและกลายเป็นดินทราย ในการนี้ ประทับรถรางพระที่นั่งทอดพระเนตรการดำเนินงาน และผลสัมฤทธิ์ภายในศูนย์ฯ



โอกาสนี้ ประทับรถรางพระที่นั่ง ไปทอดพระเนตรกิจกรรมการดำเนินงาน และผลสัมฤทธิ์ของศูนย์ศึกษาฯ ได้แก่ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา ซึ่งนี้ตั้งอยู่ภายในศูนย์ศึกษาฯ มีนักเรียนนักศึกษา 466 คน จัดการเรียนการสอน 2 ระดับ



คือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. นอกจากนี้ยังมีการสอนนอกระบบ ภายใต้โครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท ระดับ ปวช.ให้แก่เกษตรกร สาขางานการเกษตร ในการนี้ทอดพระเนตรการสาธิตโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชกล้วยไม้ป่า



ได้แก่ ว่านเพชรหึง ซึ่งใกล้สูญพันธุ์ มีสรรพคุณทางยา และนำมาทำเวชสำอาง , การนำเทคโนโลยีโรงเรือนอัจฉริยะมาใช้ในการเกษตร รวมทั้งมีการสอนแปรรูปอาหาร อาทิ สตอร์เบอรี่อบแห้ง , คุ้กกี้กุ้งผัดฉ่า น้ำกระชายพร้อมดื่ม



จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังร้านพวงคราม บริเวณหน้าศูนย์ฯ ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์แปรรูปและสินค้าเกษตร จากกลุ่มเกษตรกรทั้งในจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดใกล้เคียง



อาทิ แชมพูดอกอัญชัน , เซรั่มนมแพะ , ครีมบำรุงผิวหน้าบัวหิมะผสมน้ำมันมะพร้าว ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทางศูนย์ฯ เปิดช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์ นอกจากนี้ ยังจัดทำโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร ให้กับเกษตรกร 43 หมู่บ้าน ใน 3 ตำบล คือ ตำบลเขาหินซ้อน , ตำบลเกาะขนุน และตำบลบ้านช่อง ซึ่งสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และทำให้เกิดศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ 15 ศูนย์



รวมถึงมีกลุ่มเกษตรกรเครือข่าย เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทางการตลาด , และคุณภาพของผลผลิต อาทิ กลุ่มเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม "พีจีเอส แปดริ้ว" , กลุ่มเกษตรกรแม่บ้านนายาว , กลุ่มทอผ้าบ้านนายาว อำเภอสนามชัยเขต , กลุ่มแปรูปบ้านเนินน้อย อำเภอท่าตะเกียบ และผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปจากใบเตยเปียก



ต่อจากนั้น ทอดพระเนตรกิจกรรม เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพภายในศูนย์ศึกษาฯ โดยหน่วยงานสวนพฤกษศาสตร์ ดำเนินการศึกษาวิจัย รวบรวมพรรณไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มาปลูกไว้ในสวนป่าสมุนไพรเขาหินช้อน เนื้อที่ 15 ไร่ มีพืชสมุนไพร 909 ชนิด นอกจากนี้ยังนำพืชที่มีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจขยายผลสู่เกษตรกร อาทิ ว่านสาวหลง , ชะมาง



ซึ่งเป็นพืชอยู่ในวงศ์มังคุด เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ผลมีรสชาติเปรี้ยวจัด มีวิตามินซีสูง สามารถแปรรูปเป็นแยม น้ำผลไม้ หรือไวน์ได้ ขณะที่กิจกรรมสวนรุกขชาติสมเด็จพระปิ่นเกล้า สภาพเป็นป่าดิบแล้งที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์เนื้อที่ประมาณ 166 ไร่ มีภารกิจหลัก คือถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านระบบนิเวศน์ป่าไม้ และยังเป็นศูนย์เรียนรู้การเพาะชำกล้าไม้ และส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพป่า พัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์



พร้อมกันนี้ได้ทอดพระเนตรต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปลูกเมื่อปี 2523 และต้นกัลปพฤกษ์ ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกในปีเดียวกัน



จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณลานห้วยเจ๊ก อ่างเก็บน้ำในโครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจนตามพระราชดำริ ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรกว่า 6 พันไร่ โดยกรมประมงได้ผลิตพันธุ์สัตว์น้ำจืด เพื่อนำไปปล่อยสู่แหล่งน้ำและส่งมอบให้เกษตรกร รวมถึง การสาธิตและอบรมแก่ผู้สนใจ อาทิ การเพาะเลี้ยงกบนา



และในปี 2565 มีเป้าหมายที่จะผลิตสัตว์น้ำ จำนวน 1 ล้าน 5 แสนตัว เพื่อปล่อยสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และส่งมอบให้แก่เกษตร ปัจจุบันกรมชลประทานได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโจนไปแล้ว 10 แห่ง



นอกจากนี้ ยังก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ เพื่อใช้บริหารจัดการน้ำในลำน้ำโจน เชื่อมโยงกับระบบอ่างเก็บน้ำและคลองส่งน้ำ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรตอนล่างในเขตตำบลเขาหินซ้อน ด้านงานพัฒนาที่ดิน มีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพดิน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ดี ดินมีความร่วนซุยเพิ่มขึ้น



โดยใส่อินทรีย์วัตถุในกลุ่มจุลินทรีย์ ช่วยเพิ่มธาตุอาหารและฮอร์โมนพืช รวมถึงนำพืชตระกูลถั่วมาใช้ปรับปรุงดิน เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช สามารถทำการเกษตรได้หลากหลายรูปแบบ



และทอดพระเนตรโรงสีข้าวพระราชทาน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2527 เพื่อช่วยเหลือชาวนาในช่วงที่ข้าวเปลือกมีราคาตกต่ำ ให้ขายข้าวเปลือกได้ราคาดีขึ้น ข้าวสารที่เแปรูปแล้วจะบรรจุถุงเพื่อจำหน่าย ในนามศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ทำให้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้น ปัจจุบันมีเกษตรกรมาใช้บริการ เฉลี่ยปีละ 255 ราย ปริมาณข้าวเปลือกเฉลี่ยปีละ 37,000 พันกิโลกรัม ค่าบริการกิโลกรัมละ 1 ถึง 2 บาท



และในปี 2530 ได้จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรพัฒนาเขาหินซ้อน จำกัดขึ้น ปัจจุบันมีบัญชีสมาชิก 203 ราย ดำเนินธุรกิจสินเชื่อ , ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย , ธุรกิจแปรรูปผลผลิตการเกษตร และธุรกิจรับฝากเงิน เป็นสหกรณ์ที่ผ่านมาตรฐานมีความเข้มแข็งระดับชั้น 1 และในปี 2562 ขยายไปสู่สหกรณ์อีกหลายแห่ง เช่น สหกรณ์การเกษตรหินแร่พัฒนา จำกัด มีการสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ด้วยการปลูกข้าว , การปลูกผักปลอดภัย และการเลี้ยงกบ



นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริม และสนับสนุนงาน ด้านศิลปหัตถกรรม และอุตสาหกรรมในครัวเรือน สู่เครือข่ายในพื้นที่รอบศูนย์ฯ เช่น สนับสนุนวิทยากรงานศิลปาชีพตามแนวพระราชดำริ ที่มีการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาวิทยากรด้านการทอผ้า ให้มีความสามารถในการทอผ้ามัดหมี่ เรียนรู้วิธีการมัดหมี่ให้ออกมาเป็นลายผ้าพระราชทาน


เช่น "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" และงานพัฒนาชุมชน ที่ดำเนินกิจกรรมในลักษณะฐานการเรียนรู้ ฝึกอบรม และถ่ายทอดวิทยาการแผนใหม่ นำความรู้ไปประกอบเป็นอาชีพเสริม เช่น การทอผ้า , จักสาน และทอเสื่อจากเส้นใยพืช



กิจกรรมแปลงดินอัจฉริยะ เป็นแปลงสาธิตการอนุรักษ์ดิน และน้ำ ร่วมกับการปลูกพืชหมุนเวียน ถือเป็นการดำเนินงานอย่าง "รู้ทันดิน รู้ทันพืช และมีการบริหารจัดการน้ำ" เริ่มจากรู้สภาพดิน , ปรับปรุงบำรุงดิน , ปลูกพืชที่เหมาะสม เช่น ข้าวโพดหวาน และพืชผักต่าง ๆ



รวมทั้งมีระบบจ่ายน้ำอัจฉริยะ ใช้เทคโนโลยี "ไอโอที" (IOT) เป็นอุปกรณ์ตรวจวัด และควบคุมการให้น้ำ รับส่งสัญญาณแบบไร้สาย ผ่านแอพพลิเคชัน ปัจจุบันขยายผลไปยังศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านเกษตรผสมผสาน ให้ผู้สนใจเรียนรู้ นำไปประยุกต์ใช้ ในการนี้ ทรงเปิดระบบน้ําด้วยเทคโนโลยี "ไอโอที" (IOT)



ส่วนงานปศุสัตว์ มีการศึกษาวิจัย พัฒนาพันธุ์สัตว์ เผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกร เป็นแหล่งทัศนศึกษา และพักผ่อนหย่อนใจ ปีที่ผ่านมา ร่วมกับงานส่งเสริมสหกรณ์ ขยายผลไปยังกลุ่มเกษตรกรบ้านหินแร่ อำเภอสนามชัยเขต สนับสนุนไก่เขาหินซ้อน , ไก่พื้นเมืองเหลืองหางขาว , เป็ดไข่พื้นเมืองพันธุ์ปากน้ำ และแพะลูกผสมแบล็คเบงกอล ช่วยสร้างรายได้ตลอดจนเป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรหมู่บ้านใกล้เคียง ในการนี้ พระราชทานชื่อแก่แพะลูกผสมแบล็คเบงกอล ชื่อว่า "ศิลาซ้อน"



จากนั้น ทอดพระเนตรการเพาะเห็ดเศรษฐกิจสู่ชุมชน ที่เป็นศูนย์ต้นแบบในการผลิต และแปรรูปเห็ดเศรษฐกิจ 2 ชนิด คือ เห็ดนางฟ้าภูฏาน และเห็ดหลินจือแดงสายพันธุ์จีทู มีการขยายผลไปสู่เกษตรกร และจัดตั้งกลุ่มเพาะเห็ดเศรษฐกิจครบวงจรบ้านหัวกระพี้ อำเภอพนมสารคาม สร้างรายได้ให้กับสมาชิก



รวมทั้งผลิตก้อนเห็ดนางฟ้าภูฏาน ในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน แจกจ่ายให้กับโรงเรียนต่างๆ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนละ 500 ก้อนต่อปีการศึกษา นอกจากนี้ยังมีการทำปุ๋ยชีวภาพ ได้แก่ ปุ๋ยหมักเติมอากาศ และการขยายผลชีวภัณฑ์



เช่น การทำไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย , แมลงหางหนีบ และเห็ดเรืองแสงสิริรัศมี ที่มีประสิทธิภาพในการกำจัด และควบคุมศัตรูพืช ซึ่งเกษตรกรได้นำใช้ในการปลูกพืชอินทรีย์แบบผสมผสาน และผักสลัด ส่งจำหน่ายที่ร้านโกลเด้นเพลส และห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ



เวลา 13.24 น. เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังห้องประชุมพอเพียง โอกาสนี้ นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ ดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในการนี้ พระราชทานพระราชดำรัส แก่คณะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



เวลา 14.55 น. เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชเพลิงศพ พระธรรมมังคลาจารย์ (ประยงค์ ปิยวัณโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม วรวิหาร ณ เมรุชั่วคราว วัดโสธรวราราม วรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2564 สิริอายุ 96 ปี พรรษา 54



พระธรรมมังคลาจารย์ นามเดิมว่า ประยงค์ วรรณประดิษฐ์ เกิดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2468 ที่ตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดแสน ภูดาษ อำเภอบ้านโพธิ์



เมื่ออายุ 39 ปี เข้าอุปสมบท ที่วัดท่าสะอ้าน ได้รับฉายาว่า "ปิยวัณโณ" และถือพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด จนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และได้รับมอบหมายให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ประจำวัดท่าสะอ้าน กระทั่งปี 2532 ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าสะอ้าน และบำเพ็ญศาสนกิจไว้มากมาย



โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลบางวัว , เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอบางปะกง , เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 12 และปี 2552 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม วรวิหาร นับเป็นพระมหาเถระ ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม มีศีลาจารวัตรที่งดงาม หมั่นบำเพ็ญสมณธรรม



โดยได้รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร สาขาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศ คุณงามความดีล้วนเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะการทำนุบำรุงรักษา และพัฒนาวัดโสธรวราราม วรวิหาร ให้เจริญรุ่งเรือง เป็นที่เคารพและศรัทธาของพุทธศาสนิกชน