พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จ.เชียงราย

โดย kodchaporn_j

17 ก.พ. 2565

44 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดเชียงราย


วันนี้เวลา 9.29 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ทรงติดตามการดำเนินงาน โครงการชาน้ำมันประจำปี 2564 โดยมีผลผลิตชาน้ำมันรวม 123 ตัน สร้างรายได้แก่เกษตรกรมากกว่า 3 ล้านบาท เป็นผลมาจากการปรับปรุงพันธุ์และเพิ่มผลผลิต จำนวน 41,703 ต้น และการตัดแต่งกิ่งให้กับเกษตรกร 671 แปลง


มีวิทยากรให้ความรู้แก่สมาชิก ในการตัดแต่งกิ่ง ซึ่งเป็นวิธีช่วยเพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสอนการเสียบยอดใหม่ โดยนำยอดพันธุ์ดีมาเสียบกับต้นที่ไม่ให้ผลผลิต ทำให้ได้ต้นชาน้ำมันที่ผลผลิตสูง โดยใช้แปลงสาธิตของนางหมี่โอ เซหมื่อ สมาชิกบ้านแม่หม้อ ที่ประสบผลสำเร็จในการปลูกต้นชาน้ำมัน เป็นสถานที่ให้สมาชิกแปลงอื่น เข้ามาศึกษาดูงานและลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอน พร้อมนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในแปลงของตนเอง นอกจากนี้ ยังส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรเหมยซาน, ไก่กระดูกดำ และการปลูกพืชทางเลือกในพื้นที่ทำกิน เช่น ชาอัสสัม พริก และตะไคร้


มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดำเนินโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาตั้งแต่ปี 2549 เพื่อสนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เห็นว่าชาน้ำมันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชนได้ในระยะยาว โดยนำเมล็ดพันธุ์ และต้นอ่อนของชาน้ำมัน จากสาธารณรัฐประชาชนจีน มาศึกษาทดลองในพื้นที่บ้านปางมะหัน และบ้านปูนะ ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย รวมพื้นที่ 3,417 ไร่ ปัจจุบัน โครงการฯ มีต้นชาน้ำมันรวม 480,263 ต้น


เวลา 10.30 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยัง โรงเรียนพญาไพรไตรมิตร ทรงติดตามผลการดำเนินงาน การส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรมชุมชน ปี 2564 พร้อมทอดพระเนตรผลงานหัตถกรรม ของราษฎรบ้านห้วยอื้น และบ้านแม่คำน้อย ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้เข้าไปอบรม พัฒนาทักษะการเย็บผ้าขั้นพื้นฐาน ,การใช้จักรเย็บผ้า ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ส่งเสริมให้มีอาชีพ จากการเย็บพวงกุญแจตุ๊กตา , เย็บกระเป๋าผ้า สามารถผลิตชิ้นงานกว่า 14,000 ชิ้น นำไปจำหน่ายที่ร้านค้าดอยตุงไลฟสไตล์ ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน 27 ราย รวม 140,000 หมื่นบาท


สำหรับแผนงานในปี 2565 จะอบรมพัฒนาทักษะการใช้เครื่องจักรเย็บผ้า ให้กับชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ ให้สามารถผลิตชิ้นงานคุณภาพ โดยมียอดสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง รวมถึงบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น สั่งผลิตกระเป๋าผ้า จำนวน 2 แสนใบ ทั้งนี้ชาวบ้านที่ประกอบเป็นอาชีพเสริม มีรายได้เฉลี่ยกว่า 4 หมื่น 2 พันบาทต่อปี ส่วนชาวบ้านที่ประกอบเป็นอาชีพหลัก มีรายได้กว่า 66,000 บาทต่อปี สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ เลี้ยงครอบครัวอย่างมั่นคง


เวลา 11.16 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังแปลงชาน้ำมันดอกแดง โซนปางมะหัน โอกาสนี้ ทรงรดน้ำต้นชาน้ำมันดอกสีเหลือง และทอดพระเนตรต้นชาน้ำมัน ที่ทรงเปลี่ยนยอดพันธุ์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธุ์ 2561


จากนั้น ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานทดลองปลูกชาน้ำมันดอกแดง ที่โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันปางมะหัน ได้นำมาปลูกในพื้นที่ จำนวน 4 สายพันธุ์ ที่ทดลองปลูกตั้งแต่ปี 2562 ได้แก่ พันธุ์รีติกูลาตา(Reticulata) พันธุ์เชคเกียนโกเลโอซา (Chekiangoleosa) พันธุ์โปลิโอดอนตา (Polyodonta) พันธุ์เซมิเซราตา (Semiserrata) เพื่อศึกษาวงจรชีวิต การเจริญเติบโต ความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม พบว่าแต่ละพันธุ์เจริญเติบโตค่อนข้างดี


โดยเฉพาะพันธุ์เซมิเซราตา เจริญเติบโตดีกว่าสายพันธุ์อื่น นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัญหาแมลงศัตรูพืช อาทิ แมลงปีกขาวกินยอดอ่อน ซึ่งแก้ไขปัญหา ด้วยการพ่นสารป้องกันแมลงศัตรูพืช สำหรับในปีนี้ มีแผนการขยายพื้นที่การทดลองปลูก เตรียมเพาะกล้าเพิ่ม โดยจะคัดเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่


พร้อมกันนี้ ทรงฟังการกราบบังคมทูลรายงาน การดูแลแปลงชาน้ำมันของนายจะเอ่อ แซ่หู่ เกษตรกรตัวอย่างในโครงการฯ ที่ประสบผลสำเร็จในการปลูกชาน้ำมัน ในปี 2564 ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และไม่ขอรับค่าดูแลแปลง ทำให้มีรายได้ จากการจำหน่ายผลผลิตสูงมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรรายอื่น ในการดูแลแปลงชาน้ำมันให้ได้ผลผลิตดี ขณะนี้มีเกษตรกรในพื้นที่ สนใจเข้ามาเรียนรู้การดูแลแปลงชาน้ำมันด้วย


โอกาสนี้ พระราชทานสิ่งของแก่ผู้แทนกองกำลังผาเมือง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่บริเวณแนวชายแดน ณ ฐานปฏิบัติการปางหนุน 2


เวลา 14.44 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน อำเภอแม่ฟ้าหลวง โอกาสนี้ ทรงเป็นประธานการประชุมโครงการพัฒนาการศึกษาโรงเรียน ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ และพื้นที่ขยายผลในอำเภอแม่ฟ้าหลวง ประจำปีการศึกษา 2564 ได้แก่ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ในระดับปฐมวัย เพื่อให้นักเรียนมีความพร้อมในการศึกษาชั้นที่สูงขึ้น


ซึ่งปีการศึกษา 2563 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้นำเครื่องมือการประเมิน 2 แบบ ไปปรับใช้ คือ แบบประเมินพัฒนาการสิ่งแวดล้อมในห้องเรียน เพื่อกระตุ้นพัฒนาการผู้เรียน และแบบประเมินตนเองของครู โดยผลการดำเนินงานมอนเตสซอรี่ของโรงเรียน 34 แห่ง อยู่ในระดับที่น่าพอใจ , นอกจากนี้ยังมีการจัดการเรียนการสอน ร่วมกับโรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูวส์ , การจัดการเรียนรู้ด้านการอ่านภาษาไทย ร่วมกับสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการ การบูรณาการศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี 5G ที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ติดตั้งสัญญาณโทรศัพท์ และเทคโนโลยี 5G ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และยังสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนรู้ ให้นักเรียนได้ทดลองใช้ด้วย


ด้านงานพื้นฐานทักษะอาชีพ มีโครงงานขยะเหลือศูนย์ ในโรงเรียนบ้านขาแหย่งพัฒนา ซึ่งได้รับรางวัลที่ 3 จาก "โครงการชุมชนปลอดขยะ Zero Waste ปี 2564 ในระดับประเทศ" , การขยายพันธุ์ไม้ท้องถิ่น จำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ , สินค้าหัตถกรรมชนเผ่า และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องดื่มดอกกาแฟ และชาเลม่อนบาล์ม หรือสาระแหน่ฝรั่ง เป็นต้น


โอกาสนี้ ทรงชื่นชมนักเรียน ที่ช่วยกันคิดสร้างสรรค์ผลงาน ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ จะได้เป็นตัวอย่างให้เพื่อนนักเรียนโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป ด้านการพัฒนาทักษะอาชีพแก่ผู้เรียน มีการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ขณะที่แต่ละโรงเรียนฯ มีการพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพเพิ่มเติมใน 3 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ งานเกษตร งานอาหาร และงานประดิษฐ์ รวมทั้งสอนทำธุรกิจออนไลน์ หรือ E- Commerce


ส่วนโครงการพัฒนาภาษาไทยสำหรับเด็กที่ไม่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ มีการสาธิตการเรียนการสอนภาษาไทย ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ 8 โรงเรียน และมีโรงเรียนในพื้นที่ขยายผลอีก 28 โรงเรียน เมื่อนักเรียนได้รับการพัฒนาต่อเนื่องครบ 3 ปีการศึกษา จะมีผลการอ่านและการเขียนภาษาไทยสูงขึ้น ด้านการจัดการเรียนการสอนของครู ในสถานการณ์โรคโควิด- 19 ได้ปรับรูปแบบการอบรมสัมมนา ในกลุ่มโรงเรียนพื้นที่ดอยตุงเป็นแบบออนไลน์ พบว่าครูสามารถปรับวิธีการสอนแบบเชิงรุกได้ ส่งผลให้นักเรียนมีพัฒนาการในระดับดี และพอใช้


โรงเรียนต่างๆ ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ช่วยเหลือดังกล่าว นับเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล เมื่อได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับหน่วยงานร่วมสนองพระราชดำริ ช่วยกันคิด และแก้ปัญหา จะส่งผลให้เด็ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น มีโอกาสใช้ social Media ในการเผยแพร่วัฒนธรรม และต่อยอดการตลาดได้เอง


ต่อจากนั้น เสด็จออก ณ พระตำหนักดอยตุง พระราชทานพระราชวโรกาสให้ คณะศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ประธานกลุ่มรวมพลังเพื่อแผ่นดินจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยคณะกรรมการและสมาชิก เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และคณะกรรมการมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล จำนวน 11 แห่ง พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานพระราโชบาย เพื่อเป็นขวัญ และกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่