"โอมิครอน" กลายเป็นเชื้อหลักในพื้นที่กรุงเทพฯ - ปริมณฑล ใกล้เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว

สังคม

"โอมิครอน" กลายเป็นเชื้อหลักในพื้นที่กรุงเทพฯ - ปริมณฑล ใกล้เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว

โดย pattraporn_a

17 ม.ค. 2565

65 views

เชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน ข้อมูลล่าสุดพบกลายเป็นเชื้อหลักในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลแล้ว มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในไม่ช้า ขณะที่ ศบค.รายงานว่า เชื้อโอมิครอน ได้คร่าชีวิตคนไทยรายที่สองแล้ว



สำหรับรายแรก ที่ติดโอมิครอน เสียชีวิต เป็นหญิงไทย อายุ 86 ปี ชาวอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผู้ป่วยติดเตียงและอัลไซเมอร์ ได้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม



ติดจากหลานชายที่เดินทางกลับมาจาก จ.ภูเก็ต ส่วนผู้ติดโอมิครอน เสียชีวิต รายที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 84 ปี ชาว อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย คนในครอบครัวติดเชื้อโควิด



ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีประวัติได้รับวัคซีน แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. แถลงสรุปสถานการณ์โควิด-19 วันนี้ว่า


พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,929 คน เสียชีวิต 13 คน ทำให้ตัวเลขสะสมตั้งแต่วันที่ 1 - 17 มกราคม ทั้งหมด 107,979 คน ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนัก 533 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 108 คน


นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ได้สุ่มตรวจระดับภูมิคุ้มกัน พบว่า วัคซีนทุกสูตรให้ภูมิคุ้มกันได้ไม่มากสำหรับเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน แต่หากได้รับการฉีดเข็มกระตุ้นจะสามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ดี


ทั้งนี้ยอมรับว่า สายพันธุ์โอมิครอนมีขีดความสามารถในการหลบวัคซีนได้ดีกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่ยังพบว่าการเสียชีวิตยังมีน้อย โดยหลังจากนี้จะมีการสุ่มตรวจภูมิคุมกันเพิ่มในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติม


ด้าน นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค ระบุว่า คณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน เตรียมพิจารณาแนวทางการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA ครบ 2 เข็ม ซึ่งเดิมกำหนดให้เว้นระยะห่าง 6 เดือน ก่อนรับเข็มกระตุ้น จากนี้อาจจะมีความจำเป็นต้องร่นระยะเวลา รับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เร็วขึ้น โดยข้อมูลจากหลายประเทศ พบว่ามีการกำหนดให้เว้นระยะห่างเพียง 3 เดือน แต่ประเทศไทย จะขอพิจารณาข้อมูลอีกครั้งก่อน โดยจะเน้นให้กลุ่มเสี่ยง 608 เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อน


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในวันที่ 20 มกราคมนี้ กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอมาตรการผ่อนคลาย ต่อที่ประชุม ศบค. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจากการหารือกับอธิบดีกรมควบคุมโรค รัฐบาลต้องการให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตให้เป็นปกติมากที่สุด หลังจากที่กรมควบคุมโรคได้ศึกษาวิจัยและพบว่าเชื้อโอมิครอน แม้จะติดเชื้อรวดเร็ว แต่มีระดับความรุนแรงที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือที่ดีของประชาชน และการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม จึงเตรียมเสนอมาตรการที่ให้ประชาชนสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากที่สุด ภายใต้ความปลอดภัย


แนวโน้มของมาตรการผ่อนคลาย อาทิ เรื่องของการปรับพื้นที่สีของแต่ละจังหวัด การกลับมาใช้มาตรการเทสแอนด์โก ในการเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว ส่วนจะมีผลเมื่อไร และดำเนินการตามที่เสนอได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของที่ประชุม ศบค.


ส่วนประเด็นว่าเมื่อไร เชื้อโอไมครอน จะส่งผลให้โรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น วันนี้ เพจเฟซบุคศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้โพสต์ข้อมูลผลตรวจสายพันธุ์โควิด-19 พบ เชื้อโอมิครอนในกทม.และปริมณฑลสูงกว่าเดลตาแล้ว ชี้ เริ่มได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ใกล้กลายเป็นโรคประจำถิ่น


โดยการตรวจเชื้อในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน พบสายพันธุ์โอมิครอน ถึง 97 เปอร์เซ็นต์  เดลตา 2.8 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในเรือนจำ สุ่มตรวจพบ เดลตา 100 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่กทม.หากไม่รวมเรือนจำ โอมิครอน น่าจะเข้ามาแทนที่เดลตา เกือบหมดแล้ว  Twindemic หรือ การติดเชื้อสองสายพันธุ์ ระหว่างโอมิครอนกับเดลตา ไปพร้อมกันในระยะเวลาสั้นๆได้จบลงแล้ว


ไม่นาน โอมิครอนคงจะกระจายไปทั่วประเทศ และไม่ช้าก็คงเป็นไปตามที่แพทย์ในสหรัฐระบุว่า ในที่สุดทุกคนจะติดเชื้อไวรัส โอมิครอน จากนั้นภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติจะพุ่งสูงขึ้น ลดความรุนแรงของโรค

คุณอาจสนใจ

Related News