กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ใน เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ใน เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน

โดย panwilai_c

13 ม.ค. 2565

189 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นวันที่ 4



วันนี้เวลา 09.31 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามผลการดำเนินงาน โครงการพัฒนาเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง บ้านเลอะกรา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งได้สนองงานโครงการตามพระราชดำริ



อาทิ พัฒนาศักยภาพของครู ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาระบบโปรแกรมฐานข้อมูลสารสนเทศ ทั้งยังได้ดำเนินงานตามพระราชกระแส ในการอนุรักษ์การเล่นดนตรีเต-หน่ากู ของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งใช้เล่นในงานปีใหม่ เกี้ยวพาราสี เล่านิทานสอนใจ และจัดทำเป็นแผ่นวิดิทัศน์ แจกให้กับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ ปัจจุบันยังได้พัฒนาเครื่องดนตรี เตหน่ากู ให้เล่นร่วมกับดนตรีสากลได้ด้วย นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้นักเรียน ฝึกทอผ้าลายพื้นเมือง อาทิ ลายลูกลาน ลายตาแมวป่า โดยทรงรับซื้อเพื่อจำหน่ายที่ร้านภูฟ้า



ด้านการจัดการเรียนการสอน วิชาภาษาไทยระดับประถมศึกษา มีการใช้เพลงเป็นสื่อการสอน และมีการจัดการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ หลักสูตรการศึกษานอกระบบ โดยจัดการเรียนการสอนแก่เด็กนักเรียน และชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือให้อ่านออกเขียนได้ รวม 62 คน ส่วนโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีผลผลิตไม่เพียงพอ ต้องซื้อวัตถุดิบจากชุมชน มาประกอบอาหาร ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาส่งเสริมด้านการเกษตร การปศุสัตว์ และการประมง ส่วนราษฎรในหมู่บ้าน ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ครบทุกคนแล้ว



-โอกาสนี้ ผู้แทนบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงาน โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ แก่สถานบริการสาธารณสุขในอำเภออมก๋อย ซึ่งในส่วนศูนย์การเรียนฯ และชาวบ้าน ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ขณะที่แบตเตอรี่สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์เสียบ่อย จึงมีพระราชดำรัส ให้มีการฝึกอบรมชาวบ้านและครู ให้มีความรู้ในการดูแลรักษา และการใช้แบตเตอรี่



สำหรับโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ตามพระราชดำริ อำเภออมก๋อย เริ่มเมื่อปี 2559 มีสมาชิก 972 คน พื้นที่ดำเนินการ 4,120 ไร่ ทางศูนย์เรียนรู้การพัฒนาอมก๋อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เข้ามาช่วยฝึกอบรมกลุ่มเกษตรกรบ้านทุ่งงิ้ว ในหลักสูตรการเก็บหาของป่าอย่างยั่งยืน ให้ชาวบ้านรวมกลุ่มทำมะขามป้อมตากแห้ง ส่งขายให้กับบริษัททำสมุนไพร นอกจากนี้ ยังมีการอบรมการดูแลต้นกาแฟ และการแปรรูปกาแฟเชอรี่แบบ Dry process ด้วย



เวลา 11.51 น. เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ไปยังโรงเรียนล่องแพวิทยา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งการจัดการศึกษาให้แก่เด็กด้อยโอกาสในพื้นที่สูง เขตรอยต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก ชุมชนโดยรอบเป็นชาวไทยภูเขา จึงจัดการศึกษาผ่านกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน ปัจจุบันเปิดสอนระดับชั้นอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 มี นักเรียน 683 คน เป็นนักเรียนพักนอน 486 คน นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ 7 คน



จากนั้น ทอดพระเนตรการสอนระดับชั้นอนุบาล ที่ใช้สื่อการสอนในการพัฒนาเด็ก อาทิ การเล่านิทาน กิจกรรมบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ส่วนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น ให้รุ่นพี่ช่วยสอนเสริมให้กับน้องที่อ่อนวิชาภาษาไทย และให้นักเรียนกลับไปสอนการใช้ภาษาไทย ในชีวิตประจำวันให้กับผู้ปกครองที่บ้าน เช่น การไปพบแพทย์ ,การติดต่อราชการ



โอกาสนี้ นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด กราบบังคมทูลรายงานผล โครงการสนับสนุนโทรทัศน์ และอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมแก่โรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในโครงการตามพระราชดำริ ที่ได้ส่งมอบและติดตั้งแล้วเสร็จ 161 แห่ง พร้อมพัฒนา และขยายสัญญาณเพื่อรองรับการเรียนในทุกพื้นที่



ด้านห้องสมุด มีกิจกรรมรักการอ่าน ให้รุ่นพี่เล่านิทาน หน้าเสาธงทุกวันจันทร์ , การทำหนังสือเล่มเล็กเป็นกลุ่ม ฝึกการแบ่งงาน และทุกวันหลังเลิกเรียน จะมีกิจกรรมหนังสือเดินเท้า กระเช้าเดินทาง โดยนักเรียนจะนำหนังสือไปให้เพื่อน ๆ ที่นั่งอยู่ในโรงเรียน ส่วนทักษะวิชาชีพ เช่น การทอผ้ากะเหรี่ยง การทำเบเกอรี่ ปูนปั้นลายไม้ ช่วยสร้างรายได้ระหว่างเรียน และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โรงเรียนผ่านเกณฑ์ประเมินความพร้อม จากสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดทำการเรียน ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 โดยเพิ่มจุดล้างมือ และเว้นระยะห่าง ทั้งในห้องเรียน โรงอาหาร และหอพักนอน ส่วนช่วงแรกที่มีการระบาด ครูเข้าไปสอนที่บ้านนักเรียน ด้านสุขภาพอนามัย มีพัฒนาการที่สมวัย มีสุขภาวะที่ดี



สำหรับผลผลิตจากโครงการฝึกทักษะอาชีพเกษตรกรรม เพื่อประกอบอาหารกลางวันมีเพียงพอ แต่ช่วงฤดูฝนขาดแคลนเนื้อสัตว์ และพืชผักบางชนิด แก้ไขโดยรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านผ่านระบบสหกรณ์โรงเรียน และยังนำระบบสหกรณ์ไปใช้ในหมู่บ้าน เป็นการส่งเสริมความรู้จากโรงเรียนสู่ชุมชน



เวลา 15.41 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โอกาสนี้ ทรงวางพวงมาลัยถวายสักการะ พระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แล้วทรงเป็นประธานการประชุมสามัญ ประจำปี 2565



โดยมีระเบียบวาระ อาทิ ผลการดำเนินการของมูลนิธิฯ ,การจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี การจัดตั้งมูลนิธิฯ ในปี 2565 ซึ่งได้จัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก พร้อมจัดกิจกรรมวิ่งการกุศล ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ,สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีต่อผู้พิการขาขาด ทั้งนี้ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯได้บริการทำขาเทียมทั้งแบบทำใหม่ และบริการซ่อมแซมแก่คนพิการ ทั้งที่สำนักงานมูลนิธิจังหวัดเชียงใหม่ และโรงงานทำขาเทียมพระราชทานทั่วประเทศ 94 แห่ง รวม 3,619 ขา

นอกจากนี้ยังร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ผลิตบุคลากรด้านกายอุปกรณ์ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาช่างเทคนิคกายอุปกรณ์ โดยในปีการศึกษา 2563 มีผู้สำเร็จการศึกษา 14 คน อีกทั้งร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ ทีไอซีเอ กระทรวงการต่างประเทศ ผลิตบุคลากรทางด้านกายอุปกรณ์เทียม พร้อมจัดตั้งโรงงานทำขาเทียมในสาธารณรัฐเซเนกัล รวมทั้งจัดฝึกอบรมช่างเครื่องช่วยคนพิการ ร่วมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่



มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ก่อตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียนส่วนพระองค์เมื่อปี 2535 โดยจัดทำขาเทียมให้แก่ผู้พิการขาขาดทุกเชื้อชาติ ศาสนา โดยไม่คิดมูลค่า