อธิบดีกรมควบคุมโรค ยันยังไม่พบ 'โอไมครอน' ในไทย

สังคม

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยันยังไม่พบ 'โอไมครอน' ในไทย

โดย passamon_a

5 ธ.ค. 2564

33 views

วันที่ 5 ธ.ค.64 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าว พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ โอไมครอน เคสแรกในไทย เป็นนักท่องเที่ยวสเปน ซึ่งอยู่ใน ASQ ว่า ตอนนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอน และข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่ใช่นักท่องเที่ยวชาวสเปน แต่เป็นนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน ที่เดินทางมาจากสเปน ติดเชื้อโควิดแต่อาการไม่รุนแรง พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล


และได้ส่งเชื้อไปตรวจพิสูจน์ที่ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่าเป็นเชื้อโอไมครอนหรือไม่ ซึ่งส่งไปตรวจหลายวันแล้ว น่าจะใช้เวลาอีก 1 วัน คาดว่าจะทราบผลภายในวันพรุ่งนี้ ต้องถือว่าอยู่ในความควบคุมเพราะได้เข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้ว


ขณะที่กรณีที่ประเทศมาเลเซีย พบการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ในนักศึกษาที่เดินทางกลับจากแอฟริกาใต้ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ติดเชื้อรายดังกล่าวผ่านการกักตัวแล้ว แต่ตรวจพบโอไมครอน จากการเรียกกลับมาตรวจหาสายพันธุ์ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าจะหลุดรอดเข้ามาในไทยแล้วหรือไม่


เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.64 นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 12 กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบการสุ่มตรวจหาสายพันธุ์โควิดต่อเนื่อง การเฝ้าระวังในส่วนของเขตสุขภาพ 12 ที่ประกอบด้วย สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีระบบการตรวจหาเชื้อและส่งไปถอดรหัสพันธุกรรมหาสายพันธุ์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา


จะสุ่มตรวจใน 4 กรณี คือ 1.หากพบการลักลอบเข้ามาแล้วติดเชื้อ 2.สุ่มจากการติดเชื้อในคลัสเตอร์ชุมชน 3.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และ 4.ตรวจหาสายพันธุ์จากผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิต โดยที่ผ่านมาเราส่งตรวจหาสายพันธุ์ประมาณ 1,000 ตัวอย่างต่อเดือน


นพ.สุเทพ กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่พบโอไมครอนในจังหวัดภาคใต้ แต่เราไม่อยากให้ตื่นตระหนก เนื่องจากเรามีทรัพยากรเพียงพอในการตรวจหาเชื้อ มีมาตรการรองรับหากพบโอไมครอน เราต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วัน ในผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องตรวจ RT-PCR เท่านั้น และกักตัวอย่างน้อย 14 วัน


แม้ยังไม่พบโอไมครอน แต่เราต้องเฝ้าระวังมาก ทุกคนทำเต็มที่ ซึ่งที่ป้องกันยากสุดคือชายแดน แม้วางกำลังขนาดไหนก็ไม่ 100% เมื่อมาเลเซียพบ ก็มีโอกาสหลุดเข้ามา แต่เรามีระบบสุ่มตรวจหาสายพันธุ์ รวมถึงประชาชนต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ดูว่ามีคนแปลกหน้าเข้ามาในพื้นที่หรือไม่


สถานการณ์ติดเชื้อในภาคใต้ขณะนี้ดีขึ้น ภาพรวมทั้งเขตฯ พบรายใหม่ไม่ถึงพันรายต่อวัน ขณะที่พัทลุงกับตรัง ยังพบสูงเฉลี่ยวันละเกือบร้อยราย ส่วนนราธิวาส ลดเหลือวันละ 30-40 ราย แต่สงขลายังพบวันละ 300 กว่าราย


รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/0FzAtFTW72k

คุณอาจสนใจ

Related News