พาดูต้นแบบบริหารจัดการน้ำฉบับ 'ทุ่งสง นครศรีฯ' เตือนภัยพิบัติชุมชน บรรเทาเหตุอุทกภัย

สังคม

พาดูต้นแบบบริหารจัดการน้ำฉบับ 'ทุ่งสง นครศรีฯ' เตือนภัยพิบัติชุมชน บรรเทาเหตุอุทกภัย

โดย pattraporn_a

3 ธ.ค. 2564

180 views

ช่วงฤดูหนาวแบบนี้แม้อากาศในหลายพื้นที่จะมีอุณหภูมิลดต่ำลง แต่สำหรับภาคใต้แล้วช่วงนี้คือช่วงเสี่ยงต่ออุทกภัยเป็นประจำทุกปี ล่าสุดเทศบาลเมืองทุ่งสง ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการน้ำมาปรับใช้ บูรณาการร่วมกับเครือข่ายชุมชนทั้งในพื้นที่และนอกเขต


การจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำตรังร่วมกัน จนบรรเทาเหตุอุทกภัยไปได้มาก และไม่มีการสูญเสียเกิดขึ้นอีกเลย ซึ่งที่นี่เป็นต้นแบบของการร่วมมือกันจัดการปัญหาน้ำหลากตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำร่วมกันเป็นแห่งเเรกของไทย เพื่อเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ 


หน้าจอแสดงข้อมูลสำคัญของสถานการณ์น้ำในอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งระดับน้ำตามแม่น้ำลำคลอง และปริมาณน้ำฝน ผ่านมาตรวัดโทรมาตรที่กระจายตามชุมชนต่างๆ กว่า 20 แห่ง


นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง เล่าว่า เดิมทีพื้นที่เหล่านี้มักประสบปัญหาอุทกภัย ภัยแล้งและดินโคลนถล่มเป็นประจํามานานนับ 10 ปี ทําให้ประชาชนได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้เกิดการรวมตัวกันขึ้นเพื่อบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำตรังร่วมกัน ผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อนพึ่งภายามยาก มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลแผนที่และผังน้ำขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2561


ขณะที่ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ที่นั่งภายในห้องประชุมแห่งนี้ก็จะเต็มไปด้วยตัวเเทนจากภาครัฐและเครือข่ายชุมชน เช่น นายอำเภอ เทศบาล ผู้นำชุมชนเครือข่าย และผู้ที่เกี่ยวข้อง กว่า 30 กลุ่ม หารือแก้ไขสถานการณ์ร่วมกัน โดยใช้ข้อมูลเฉพาะของแต่ละพื้นที่ และ กำหนดจุดอพยพช่วยเหลือชาวบ้านให้แน่ชัด เป็นศูนย์แรกในไทยที่ใช้โมเดลนี้


การขุดคลองลอดใต้ถนนเป็นตัวอย่างของการศึกษาแผนที่ทางน้ำ สู่การปรับผังเมืองให้สอดรับกับธรรมชาติ เป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ขยายความกว้างจากเดิม 8 เมตร เป็น 15 เมตร เพิ่มทางไหลของน้ำ ทำให้ตลอด 3 ปีมานี้ ชาวทุ่งสงได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยน้อยลง และลดการสูญเสียได้ถึง 100%


อีกฟากหนึ่งของเทือกเขาหลวงและเทือกเขาบรรทัดในจังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวบ้านตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด แจ้งวิทยุไปยังพื้นที่ปลายน้ำในอำเภอชะอวดถึงปริมาณน้ำในคลองห้วยกรวด เพื่อเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจสูงขึ้นจนล้นตลิ่งภายในช่วงไม่กี่วันจากนี้


นี่คือภารกิจที่พวกเขาต้องทำเป็นประจำทุกวันตลอดเดือนพฤศจิกายน ถึง มกราคมของทุกปี ในช่วงน้ำหลากของหลายพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช


จากเดิมที่ต้องคอยไปตรวจเช็คระดับน้ำตามแหล่งน้ำ กลายเป็นใช้เทคโนโลยีติดตามการรายงานผ่านแอปพลิเคชั่นจากเครื่องโทรมาตร ซึ่งจะคอยบอกความเสี่ยงของปริมาณน้ำตามค่าที่กำหนดไว้ เป็นการนำโมเดลการบริหารจัดการน้ำของพื้นที่ทุ่งสงมาปรับใช้กับท้องที่ที่มีปัญหาใกล้เคียงกัน


คุณอาจสนใจ

Related News