ส.ส.ปชป. เสนอนำกำไร ปตท. ชดเชยดีเซล 'สุพัฒนพงษ์' แจงทำไม่ได้ ขัดหลัก กม.

เศรษฐกิจ

ส.ส.ปชป. เสนอนำกำไร ปตท. ชดเชยดีเซล 'สุพัฒนพงษ์' แจงทำไม่ได้ ขัดหลัก กม.

โดย passamon_a

26 พ.ย. 2564

141 views

วันที่ 25 พ.ย.64 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา


นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถาม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์​ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันดีเซล ที่มีราคาแพงและกระทบกับประชาชน รวมถึงผู้ให้บริการด้านการขนส่ง ว่า ราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร คือเพดานราคาน้ำมันดีเซล ที่รัฐบาลประกาศควบคุม ซึ่งก่อนหน้านี้ทางอนุ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนรษฎร มีข้อเสนอไปยังรัฐบาล ให้ดำเนินการเพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซล​ต่ำกว่าลิตรละ 30 บาท


โดยใช้กลไกรัฐ คือ 1.ลดการผสมไบโอดีเซล ลิตรละ 47 บาท หากลดได้ และใช้กลไกของรัฐดูแลปาล์ม จะลดลิตรละ 2 บาท 2.ลดภาษีสรรพสามิต เก็บราคา 5.99 บาทต่อลิตร 3.ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 4,000 ล้านบาท หรือราคาสูงถึง 1.99 บาทต่อลิตร หากบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีประสิทธิภาพ ไม่ควรกู้ตามที่ครม.อนุมัติ


4.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดารชดเชยแอลพีจี ภาคขนส่ง เหลือเพียงภาคครัวเรือน และ 5. ทบทวนการทำงานของ ปตท. โดยให้ ปตท.มุ่งดูแลประชาชน มากกว่าแสวงหากำไร ที่ล่าสุด​ประกาศผลกำไร 3 ไตรมาส รวม 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรบนคราบน้ำตาของประชาชน ดังนั้นควรให้ ปตท.​มีการชดเชยค่าน้ำมันดีเซลให้ประชาชน


ด้าน นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า สถานการณ์น้ำมันเราได้ติดตามอย่างใกล้ชิด แต่เนื่องจากสถานการณ์ราคาพลังงานมีความผันผวนมาก เกิดปรากฏการณ์ผู้ผลิตและผู้ใช้รายใหญ่มีความเห็นต่างกันและมีมาตรการโต้ตอบกัน ขณะที่ในส่วนของ ปตท. ปัจจุบันเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลถือหุ้นประมาณ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กิจการที่ปตท.ดำเนินการเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มีคณะกรรมการกำกับดูแลพลังงาน การทำงานของ ปตท. คือดูแลเสถียรภาพให้ประชาชนมั่นใจว่ามีพลังงานใช้ในต้นทุนที่เหมาะสม และทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ก๊าซปิโตเลียมเพื่อแข่งขันกับเอกชน ช่วยขยายเศรษฐกิจ ท่ามกลางการแข่งขันตลาดเสรี


ทั้งนี้ ปัจจุบัน ปตท. มีหนี้สินสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกำไร ใน 9 เดือน เป็นกำไรที่เกิดจากการเพิ่มมูลค่าน้ำมัน ต้องเก็บไว้ 2 หมื่นล้านบาท กำไร แค่ 5.5 หมื่นล้านบาท ทั้งปีอาจได้ 8 หมื่นล้านบาทจากผลประกอบการ


สินทรัพย์ของ ปตท. อยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท กำไรแสนล้านบาท เมื่อเทียบกับธุรกิจของต่างประเทศ กำไรไม่มาก แม้จะดูเหมือนเยอะ ทั้งนี้ ตามสัดส่วนของการถือหุ้น แม้รัฐบาลจะถือหุ้นมาก ถึง 62% แต่อีก 38% คือนักลงทุนและประชาชน หากนำกำไรของ ปตท. สนับสนุนมาตรการของรัฐบาล เช่น สนับสนุนดีเซล ทำไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ได้จาก ปตท.ทั้งนี้ตลอด 9 เดือน เป็นเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท คือเงินปันผลที่รัฐบาลได้รับ และเงินภาษี โดยเงินนี้จะออกมาในรูปแบบของการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เช่นกองทุนน้ำมัน


นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงด้วยว่า ราคาขายน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท.​ ราคาต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับเอกชนรายอื่น ๆ ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ไว้เพื่อดูแลประชาชน รวมถึงโครงการอื่นที่ช่วยเหลือประชาชน ยอมรับว่าอาจมีสิ่งที่ขาดตกบกพร่อง ดังนั้น กมธ.ฯเรียกให้ชี้แจงได้


ขณะที่ นายอัครเดช กล่าวว่า ทาง กมธ.ฯ เคยเรียก ปตท.​ชี้แจง แต่พบการบ่ายเบี่ยงไม่พร้อม แม้จะมาชี้แจงเป็นคำตอบทั่วไป เช่น ทำซีเอสอาร์ ซี่งคำชี้แจงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ชี้แจงได้ตอบเหมือนเป็นพนักงาน ปตท.​ ตอบใน กมธ. ดังนั้น ขอให้ฟังคำตอบที่ชัดเจน อย่าทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของ ปตท. และขอให้ประกาศให้นำกำไรของ ปตท.​ มาช่วยเหลือประชาชนทั้งหมด


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงต่อว่า ยืนยันว่าตนทำงานเป็นกลาง และเน้นประโยชน์ประชาชนของประเทศ ปตท. คือรัฐวิสาหกิจ คือใช้อำนาจท่าน หากเรียกไม่มา ท่านก็ตามได้ ให้แจ้งมาที่ตน พร้อมจะตามให้ เพราะเป็นหน้าที่อธิบายกับผู้แทนประชาชนเพื่อสื่อความให้ประชาชน ทั้งนี้ ตนกำชับว่าให้ไปทุกครั้งที่เรียก ยืนยันตนไม่ได้ตอบแทน ปตท. แต่ขอให้เชื่อมั่นในรัฐวิสาหกิจไทยในตลาดหลักทรัพย์ ที่ทำหน้าที่ดูแลประชาชน แต่ไม่สามารถนำกำไรทั้งหมดมาช่วยประชาชนได้ เพราะรัฐบาลถือหุ้นเพียงแค่ 62 % ยังมีผู้ถือหุ้นรายอื่นอีกด้วย อีกทั้งขัดต่อหลักการปกติของกฎหมาย


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/OybUaLNmQbQ

คุณอาจสนใจ