กรมสุขภาพจิต เผยโควิดทำคนไทยเครียด เสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 10 เท่า

สังคม

กรมสุขภาพจิต เผยโควิดทำคนไทยเครียด เสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 10 เท่า

โดย passamon_a

25 พ.ย. 2564

119 views

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างแถลงข่าว ถอดรหัสนวัตกรรมวัคซีนใจในชุมชน 2564 ที่กรมสุขภาพจิต ว่า การระบาดของโรคโควิด -19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย และสุขภาพใจ เศรษฐกิจ สังคม ทำให้ประชาชนมีความเครียด ซึมเศร้า และฆ่าตัวตายสูงขึ้น ซึ่งจะปล่อยผ่านทำให้ปัญหานี้ลุกลาม ขยายตัวต่อไม่ได้ เพราะแนวโน้มปัญหาสุขภาพจิตขณะนี้ กราฟอยู่ในขาขึ้น จึงต้องเร่งเข้าดูแล


เบื้องต้นให้มีการสำรวจพื้นที่สุ่มเสี่ยง เครียด พื้นที่ยากลำบาก เป็นต้น ทั้งนี้ การจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพใจที่ดี ไม่เครียด อันดับแรกคือ เราต้องทำให้สุขภาพกายดี ปลอดภัยจากโรคก่อน ซึ่ง สธ.ทำอย่างเต็มที่ มีมาตรการควบคุมป้องกันโรค เร่งฉีดวัคซีน และเพิ่มการบริการทางการแพทย์ เป็นต้น


ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้จัดทำแผนดูแลสุขภาพจิตประชาชนให้ลงถึงระดับชุมชน ตอบสนองต่อสถานการณ์โรคระบาด ด้วยการสร้างพลังใจตั้งแต่เดือน เม.ย.2563 ประสบความสำเร็จใน 633 ชุมชน จากนี้จะมีการขยายการสร้างเสริมวัคซีนใจในชุมชนเพิ่มเติมใน 4 จังหวัดตัวแทนของ 4 ภูมิภาค คือ ลำพูน กาฬสินธุ์ นครศรีธรรมราช และนครสวรรค์ เป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายให้น้อยกว่า 8 ต่อ แสนประชากร


ขณะที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ช่วงแรกที่โควิด-19 ระบาด การสำรวจความเห็นพบว่า คนมีความคิดฆ่าตัวตายยังต่ำ ร้อยละ 0.7-0.8 แต่ในช่วงเดือน ส.ค.2564 ซึ่งเป็นช่วงพีคของการระบาด มีจำนวนผู้ติดเชื้อหลักหมื่นรายต่อวัน อัตราการเสียชีวิตหลายร้อยรายต่อวัน พบว่าผู้ตอบคำถามเสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า หรือประมาณ ร้อยละ 7-8 และมีแนวโน้มสูงขึ้น สอดคล้องกับที่มีรายงานข่าวการฆ่าตัวตายผ่านสื่อต่าง ๆ สัปดาห์ละ 3-4 เหตุการณ์ ที่น่าตกใจคือ พบลักษณะการทำร้ายคนอื่น ก่อนทำร้ายตัวเองตาม ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้น


ต้องขอบคุณสื่อที่เสนอข่าวเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น ไม่เสนอวิธีการฆ่าตัวตาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลอกเลียนแบบตามมา และอีกเรื่องที่ต้องทำคือ เฝ้าระวังเข้มข้น และดักจับตั้งแต่ต้นทางที่พบความเสี่ยง อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในประเทศไทยเดิมอยู่ที่ 6-7 ต่อแสนประชากร กลับพบว่าตอนนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8 ต่อแสนประชากร ซึ่งเรามุ่งหวังว่าจะต้องรักษาไม่ให้เกิน 8 ต่อแสนประชากร ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของทั่วโลกจะเหมือนกันคือสูงขึ้นหลังวิกฤตประมาณ 6 เดือน เป็นต้นไปประมาณ 1 ปี เป็นจุดสูงสุดของปัญหา ดังนั้นตั้งแต่เดือน ส.ค.2564 - ส.ค.2565 เป็นเวลาทองที่เราต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้ตัวเลขการฆ่าตัวตายสูงไปกว่านี้


อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า ขณะนี้พยายามทำทุกวิถีทางในการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยเพิ่มคู่สายสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และพยายามให้หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ที่มีสมาชิกมีความเครียด เช่น มหาวิทยาลัย สถานศึกษา ที่พบว่านิสิต นักศึกษามีความเครียดมากขึ้น เพราะจากการตอบแบบสอบถาม พบเสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 10 เท่า เช่นกัน ดังนั้นจึงพยายามให้มีระบบให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตในองค์กรต่างๆ มีสายด่วน มีผู้ให้คำปรึกษา มีนักจิตวิทยา แม้แต่ในกระทรวงต่าง ๆ โดยการให้คำปรึกษามีทั้งระบบการปกปิดตัวตน และการเปิดเผยตัวตน และการส่งต่อการรักษาด้วย ย้ำว่าบริการสุขภาพจิตต้องเติบโตเพื่อรองรับ และป้องกัน แก้ไขปัญหาสุขภาพจิต


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/0G0ZKIiY2Pw

คุณอาจสนใจ

Related News