อดีตสาวแบงก์แฉธนาคาร บังคับขายประกันจนต้องซื้อเอง แบงก์ชาติเร่งสอบ ยันห้ามกดดัน KPI พนง.

ข่าวโซเชียล

อดีตสาวแบงก์แฉธนาคาร บังคับขายประกันจนต้องซื้อเอง แบงก์ชาติเร่งสอบ ยันห้ามกดดัน KPI พนง.

โดย thichaphat_d

19 พ.ย. 2564

1.1K views

จากกรณีหญิงสาวรายหนึ่งได้โพสต์ระบายความในใจ หลังจากตัดสินใจลาออกจากอาชีพพนักงานธนาคาร ทั้งที่มีสวัสดิการดี รายได้ดี มีโอที คอมมิชชั่น เพื่อนร่วมงานดี และมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยบอกถึงปัญหาที่เจอ และท้าให้ คปภ.เข้าไปตรวจสอบนโยบายขายประกันของธนาคารหลายๆ แห่งบ้าง


โดยช่วงหนึ่งของโพสต์ เธอระบุว่า การซื้อประกันทุกประเภทเป็นการซื้อเพื่อลดความเสี่ยง แต่ต้องซื้อเพราะประโยชน์ที่คนต้องการได้รับ ไม่ใช่ให้พนักงานร้องขอให้ช่วยซื้อ และหากพนักงานขายไม่ได้ก็ต้องซื้อเอาไว้เอง


"นโยบายของผู้บริหารระดับล่าง-กลาง (ที่ไม่ใช่ผู้บริหารสาขา) ที่ต้องการทำผลงานแข่งกันระดับภาค ระดับเขต โดยไม่สนใจว่าผลงานที่ได้มาจะได้มาด้วยวิธีการไหน นโยบายรายวัน รายสัปดาห์ พร้อมบทลงโทษหากทำไม่ได้ตามนโยบาย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ระบุลงในสัญญาจ้างตั้งแต่ต้น แต่…ใช้อำนาจหน้าที่สั่งให้ทำ"


ผู้โพสต์ ระบุสาเหตุที่ออกมาโพสต์ในครั้งนี้ว่า เพราะไม่อยากให้การลาออกของตนเองสูญเปล่า อย่างน้อยๆ ก็ขอให้วงการธนาคารสดใสขึ้นบ้าง เพราะพนักงานทุกคนทุ่มเททำงานอย่างหนัก และทุกคนมีต้นทุนชีวิต กว่าจะเรียนจบจนมีงานทำ


"ผู้บริหารระดับสูง ลงมาดูบ้างนะคะ อย่าพิจารณาแค่จากการรายงานของผู้บริหารระดับกลาง หรือระดับล่างรายงานขึ้นไปค่ะ จะได้รู้ว่าพนักงานระดับปฏิบัติการทำงานกันแบบไหน โดนกระทำขนาดไหน รีดเลือดกับปู ปูไม่มีเลือดให้ ปูก็ตาย หาปูตัวใหม่มาแทน


น่าสงสารน้องๆ ที่เงินเดือนน้อยๆ กันนะคะ หลายๆ คนมีภาระที่ต้องแบก บางคนต้องเช่าห้องพัก ส่งเงินให้ทางบ้าน กินใช้ส่วนตัวอีก ต้องมาซื้อประกันเองมันใช่เหรอคะ"


ทีมข่าวเราได้พูดคุยกับคุณปอ ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยคุณปอ ยืนยันว่า จุดประสงค์ที่ออกมาเขียนเล่าเรื่องราวนั้น ไม่ได้ออกมาโจมตีแบงค์ หรืออาชีพพนักงานธนาคาร จากโพสต์ที่เริ่มการลาออกจากการขายประกันยังยืนยันคำเดิมเสมอว่า


ประกันชีวิตคือสิ่งที่ดีถ้าเราเลือกซื้อแล้วเลือกได้เหมาะสมกับตัวเราว่าซื้อเพื่ออะไร ลดหย่อนภาษีหรือเพื่อความคุ้มครองเป็นประกันสุขภาพขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลต้องความต้องการ ตนเองเป็นพนักงานขาย ทราบดีอยู่แล้วว่ามันหลีกหนีไม่ได้ในการขายประกันเหล่านี้


แต่การขาย กลับไม่ยุติธรรมในการขาย โดยปกติแล้วผู้ใหญ่ก็จะรับเป้ามา ว่าเดือนนี้จะทำยอดเท่าไหร่ อย่างไร แล้วกระจายงาน ให้กับพนักงานสาขา ก็จะแบ่งกระจายกันเป็นทีม ในการขายนำเสนอลูกค้า


แต่ความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น เมื่อมีการสั่งให้พนักงานขายทำยอดแบบประกันอุบัติเหตุ หรือพีเอวิคลี่ คือใน 1 สัปดาห์ต้องทำยอดให้ได้ เมื่อทำไม่ได้จะเกิดปัญหากับทีม และจะต้องทำยอดในสัปดาห์ต่อมาเพิ่มขึ้น 2เท่า ยกตัวอย่าง หากกำหนดยอดขาย 3000 บาท


เมื่อขายได้ไม่ครบตามกำหนด 1 สัปดาห์ ยอดนี้จะหายและหายและในสัปดาห์ต่อมาต้องขายให้ได้ถึง 6000 บาท เพื่อให้ได้ตามเป้า หากไม่ได้อีกสัปดาห์ต่อมาต้องขายให้ได้ถึง 9000 บาท


ทำให้ตนเองและเพื่อนพนักงานคนอื่นๆ หลายคนทำยอดไม่ได้ก็ขายให้คนใกล้ชิด คนในครอบครัว กระจายกันไป แต่จะทำแบบนี้ตลอดไม่ได้ เพราะการซื้อประกันไม่ใช่การบีบบังคับและก็ไม่ใช่เรื่องที่ตนเองต้องนำเงินเดือนมาซื้อประกันเพื่อรักษายอดจากกการบีบบังคับไม่ยุติธรรม


เท่านั้นไม่พอ ยังมีการขายผลิตภัณฑ์ของธนาคาร โดยที่พนักงานจะได้รับคะแนน เช่น ล้านละ 1,000 คะแนน โดยทางธนาคารก็จะกำหนดต่อเดือน คนนี้ต้องได้คะแนน 5000 คะแนนขึ้นไป ถึงจะได้เปอร์เซ็นต์ แต่หากเดือนนั้น ทำคะแนนไม่ถึง เช่น ได้แค่ 4999 ก็จะโดนตัดทิ้ง เป็นศูนย์ทันที ก็ไม่ยุติธรรม แล้วคะแนนนี้ไปอยู่ทึ่ไหน ใครได้รับไป


ซึ่งตนทำมา 9 ปี และมองว่าการกระทำแบบนี้คือการบีบบังคับ โดยที่ไม่มองถึงพนักงาน และยังมองว่า หากตนเองขายไม่ได้ตามเป้าเป็นคนไม่มีศักยภาพ ก็ขอพิจารณาตัวเองด้วยลาออก เพราะว่าเดินต่อไปถ้าครั้งนี้ทำสำเร็จมันก็จะมีครั้งที่สองที่สามและตามมาสร้างเงื่อนไขกติกาแบบนี้ ในเมื่อบริษัทได้แต่ประโยชน์อย่างเดียว และคิดว่าการที่ตนเองออกมาเปิดข้อมูลนี้ จะเป็นเสียงสะท้อนให้มีการปรับปรุฃ แก้ไข และเห็นใจพนักงาน


ถ้าพนักงานคนนั้นขายไม่ได้และต้องทำเพื่อให้ได้ยอดและพนักงานต้องขอร้องลูกค้าเพื่อให้ช่วยให้ผู้ใหญ่อยากได้ยอดซึ่งอาจจะสร้างความอึดอัดใจให้กับพนักงานและก็ลูกค้า ซึ่งหลังจากเกิดเรื่องดังกล่าวออกไป ก็มีกระแสตอบรับจากธนาคาร ส่งผู้ใหญ่และตัวแทนเขต มาพูดคุยสอบถามรายละเอียด และรับเรื่องไว้ แต่ยังไม่มีการดำเนินการใด


ทางด้าน นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาย้ำว่า ได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมให้ผู้ให้บริการทางการเงิน (ผู้ให้บริการ) ทุกแห่ง ในการยกระดับธรรมาภิบาลของการเสนอขายผลิตภัณฑ์และการให้บริการแก่ลูกค้า โดยเฉพาะการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย และได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้


กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (market conduct) และกำกับดูแลเข้มข้นตั้งแต่ปี 2561 โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายค่าตอบแทน คือ


ผู้ให้บริการต้องไม่กำหนดตัวชี้วัดผลงาน (KPI) ที่ให้น้ำหนักกับเป้าการขายผลิตภัณฑ์หรือกดดันพนักงาน จนนำไปสู่การเสนอขายที่ขาดคุณภาพและขาดความรับผิดชอบต่อลูกค้า รวมทั้งต้องนำข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการบังคับขายมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาค่าตอบแทนด้วย


ในส่วนของ หลักเกณฑ์ด้านกระบวนการขาย ยังกำหนดเรื่องการให้ข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง ชัดเจน ไม่บิดเบือน และ ไม่รบกวนลูกค้า รวมทั้งมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพการขาย เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีการหลอก บังคับ เอาเปรียบลูกค้า และไม่บังคับขายผลิตภัณฑ์พ่วงเป็นเงื่อนไขในการใช้ผลิตภัณฑ์หลัก


โดยที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้ติดตามและประเมินการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเข้มงวด และเปรียบเทียบปรับผู้ให้บริการที่บังคับขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย พร้อมกับเน้นการตรวจสอบและประเมินการให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย และได้ลงโทษอย่างจริงจัง โดยได้เปรียบเทียบปรับผู้ให้บริการที่บังคับขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยจำนวน 2 แห่ง ในปี 2561


และร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์หลักทรัพย์และประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ (cross selling) แบบองค์รวมและสอดคล้องกัน ทำให้เรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการบังคับขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2562 - 2564 (9 เดือนแรก)


แต่ปรากฏว่า ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 มีผู้ให้บริการบางแห่งเริ่มกลับมาเน้นการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยเชิงรุก หรือขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยพ่วงกับการให้สินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแบงก์ชาติได้กำชับผู้ให้บริการในทันที


และเน้นย้ำให้ควบคุมดูแลคุณภาพการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างเคร่งครัดและจริงจัง โดยเฉพาะการเร่งทำเป้าการขายในช่วงระยะเวลาใกล้ปิดรอบการประเมินผลงาน ทั้งนี้ จะติดตามตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง และพร้อมดำเนินการตามมาตรการกำกับดูแลที่มีความเข้มข้นขึ้นต่อไป


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/6WLssinA934

คุณอาจสนใจ

Related News