นายจ้างสวนลำไยโอด พืชผลเน่าตายคาต้น เผยค่าหัวนำเข้าแรงงานสูงหลักหมื่นต่อคน

สังคม

นายจ้างสวนลำไยโอด พืชผลเน่าตายคาต้น เผยค่าหัวนำเข้าแรงงานสูงหลักหมื่นต่อคน

โดย pattraporn_a

17 พ.ย. 2564

51 views

ปัญหานายจ้าง และผู้ประกอบการ ณ ชายแดนไทย กัมพูชา เกิดปัญหาใหญ่ในภาคการเกษตร พืชผลเสียหาย เก็บเกี่ยวไม่ทัน โดยต้องแบกรับค่านายหน้าแรงงานหนึ่งคนเป็นเงินสูงถึงสองหมื่นบาทต่อหัว


หลังจากศบค.ได้อนุมัติข้อเสนอของกระทรวงแรงงาน กรณีการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศ โดยผ่อนปรนให้เปิดด่าน 5 แห่ง และสามารถนำเข้าแรงงาน 3 สัญชาติตาม MOU เพื่อลดความเสี่ยงจากโควิด-19 แต่ล่าสุด ก็มีเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้ประกอบการ-นายจ้างในภาคเกษตร บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่จันทบุรี ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่รัฐบาลเตรียมเปิดด่านให้แรงงานเข้าประเทศได้ถูกต้องตามกฏหมาย แต่ที่เป็นปัญหาก็คือเรื่องค่าดำเนินการ ที่นายจ้างต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสูงถึงหลักหมื่นต่อแรงงานหนึ่งคน


ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา ในฐานะตัวแทนภาคธุรกิจการค้า จ.จันทบุรี สะท้อนผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะเกษตรกร-ชาวสวนลำไย เก็บไม่ทัน สุกเน่าคาต้น เสียหายนับพันล้าน




โดยเจ้าของล้ง ป.ประพล หนึ่งในผู้ประกอบการล้งลำไย ที่กำลังกระทบหนักจากปัญหานี้ จากเดิมเคยมีคนงานอยู่กว่า 600 คน 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นแรงงานชาวกัมพูชาที่ขึ้นทะเบียนตามกฏหมาย แต่ตอนนี้ลดลงเกินครึ่ง เหลืออยู่เพียง 300 คน เท่านั้น


ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เห็นด้วยที่รัฐบาลผ่อนปรนให้แรงงาน ผ่านเข้ามาตามกระบวนการถูกต้อง ซึ่งเป็นผลดีในด้านความเชื่อมั่นในตลาดจีน ผู้บริโภคได้กินลำไยที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ แต่ด้วยค่าใช้จ่ายต่อคนที่สูงมาก มองว่าเป็นการผลักภาระให้ผู้ประกอบการ กระทบเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่ปลายทาง พ่อค้าคนกลาง แรงงาน ไปจนถึงชาวสวน และอาจวนกลับไปสู่ปัญหาเดิม เมื่อไม่มีเงิน ทางเดียวที่จะได้เข้า ก็คือต้องกลับไปมุดรั้ว


ไม่ต่างจากชาวสวนลำไย เฉพาะโป่งน้ำร้อน เขาสอยดาว มีร่วม ๆ หลายหมื่นไร่ แต่ขาดคนงานเก็บไม่ทัน เน่าคาต้น บางส่วนสุกเกินไปเลยเวลาเก็บเกี่ยว จากที่เคยได้ราคาเกรดพรีเมี่ยม ก็ต้องจำใจเอาไปขายในราคาถูก


จันทบุรี เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องผลไม้ ในแต่ละปีสร้างงานสร้างรายได้เข้าประเทศหลายหมื่นล้าน แต่ปีนี้กระทบหนัก ด้วยเพราะแรงงานส่วนใหญ่ อพยพกลับประเทศในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก ส่วนหนึ่งเห็นว่านโยบายเปิดด่าน-ผ่อนปรน เป็นเรื่องดี ซึ่งจะปลอดภัยทั้งคนงานและนายจ้าง แต่ถ้าค่าใช้จ่ายสูงเกินไป เกรงว่าคลัสเตอร์ใหม่ ๆ จากปัญหาแรงงานทะลัก จะวนกลับมาอีกครั้ง และเมื่อถึงเวลานั้น อาจต้องปิดด่านกระทบเป็นวงกว้าง




สุดท้ายนี้ยังมีรายงานว่า ฝ่ายความมั่นคงต้องวางกำลังเข้ม หลังพบกลุ่มเเรงงานชาวกัมพูชาจำนวนมาก พยายามหาทางลักลอบข้ามกลับเข้ามาทำงานในฝั่งไทย ติดตามต่อพรุ่งนี้ครับ

คุณอาจสนใจ

Related News