โหวตวันนี้! ส.ส.รัฐบาล - ส.ว. ค้านร่างแก้ รธน.ฉบับประชาชน ด้านฝ่ายค้านอภิปรายสนับสนุน

สังคม

โหวตวันนี้! ส.ส.รัฐบาล - ส.ว. ค้านร่างแก้ รธน.ฉบับประชาชน ด้านฝ่ายค้านอภิปรายสนับสนุน

โดย pattraporn_a

16 พ.ย. 2564

67 views

การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เปิดให้ ส.ส.และ ส.ว.อภิปรายที่ส่วนใหญ่ ส.ว.จะไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นการยุบส.ว.ซึ่งกลุ่ม re-solution ที่เสนอผ่านการลงชื่อของประชาชนกว่า 1 แสน 3 หมื่นชื่อ คาดหวังให้รัฐสภา รับหลักการในวาระที่ 1


การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับประชาชน ที่เสนอโดยกลุ่ม Re-Solution ที่ประกอบด้วย กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า คณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล และ ไอลอว์ รวบรวมรายชื่อประชาชน 135,247 รายชื่อ เสนอต่อรัฐสภา โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เสนอสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นวัคซีนเร่งด่วนเพื่อรื้อระบอบประยุทธ์ หยุดการสืบทอดอำนาจเผด็จการ โดยมีการแก้ไขใน 4 ประเด็น คือ


1. เสนอให้ยุบสมาชิกวุฒิสภา ให้ใช้ระบบสภาเดี่ยว มี ส.ส. 500 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน


2.เสนอปฏิรูปที่มา อำนาจ การตรวจสอบ โดยให้ ส.ส.มีส่วนคัดเลือกและรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการองค์กรอิสระ ที่เดิมเป็นอำนาจของ ส.ว. และให้เพิ่มการตั้งผู้ตรวจการศาลและองค์กรอิสระ เพิ่มอำนาจประชาชนเข้าชื่อเสนอถอดถอนได้


3.เสนอให้ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูประเทศ เพื่อให้การกำหนดนโยบายมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน


4. การล้างมรดกรัฐประหาร ด้วยการเพิ่มหมวดใหม่ในรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า “การลบล้างผลพวงรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 และการป้องกันและการต่อต้านรัฐประหาร” โดยกำหนดให้การรัฐประหารเป็นความผิดที่ไม่มีอายุความ ประชาชนมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้าน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะที่ก่อการรัฐประหาร ห้ามศาลวินิจฉัยหรือพิพากษารับรองความสำเร็จสมบูรณ์ของการรัฐประหาร


ซึ่งในประเด็นระบบเลือกตั้งที่ไม่ได้ระบุไว้ในร่างนี้ เนื่องจากรัฐสภาได้เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการลงพระปรมาภิไธย และหากร่างฉบับประชาชนผ่านวาระที่ 1 ก็สามารถแก้ไขได้ รวมทั้งอยากให้การเปลี่ยนระบบเลือกตั้งมาจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน



นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ย้ำว่าการเสนอให้มีสภาเดี่ยว เหลือเพียง ส.ส. สามารถทำได้ เพราะหลายประเทศเริ่มใช้ระบบนี้ โดยไม่มี ส.ว. โดยจะเพิ่มบทบาท ส.ส.ฝ่ายค้าน มีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลให้มากขึ้น และการปฏิรูปที่มาศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล โดยกำหนดให้รองประธานสภาผู้แทนราษฏรคนที่ 1 ต้องมาจากฝ่ายค้าน รวมถึงการกำหนดให้นายกรัฐมนตรี ต้องเป็น ส.ส.เพื่อไม่เปิดทางให้ทหารผู้ปฎิวัติมาแทน จึงอยากเห็น ส.ส.และ ส.ว.รับหลักการในวาระที่ 1 เพื่อไม่ให้เป็นเหมือนการปิดประตูใส่ประชาชน


แน่นอนว่าข้อเสนอยกเลิก ส.ว.มีการอภิปรายไม่เห็นด้วยจาก ส.ว.ส่วนใหญ่ ทั้ง พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวาณิช เห็นว่า การมีสภาเดี่ยว เป็นการให้อำนาจล้นฟ้า แก่ ส.ส.ต่างจากหลักการ 2 สภาที่ให้มีสภาสูงเพื่อถ่วงดุลในสภานิติบัญญัติ และเหมาะกับสังคมไทย



ขณะที่ระหว่างที่ นายปิยบุตร ลุกขึ้นชี้แจงข้อเสนอยุบ ส.ว. นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒสภา ได้ลุกขึ้นประท้วงโดยระบุว่า นายปิยบุตร ไม่เหมาะสมมาชี้แจงรัฐธรรมนูญแทนประชาชน เพราะเป็นคนเนรคุณแผ่นดิน และ ล้มสถานบันฯ ทำให้ส.ส.พรรคก้าวไกล ต้องขอให้ถอนคำพูด ซึ่งนายกิตติศักดิ์ ยอมถอน และนายปิยะบุตร ได้กล่าวทิ้งท้ายว่าให้ประชาชนตัดสินว่าควรมีสภาคู่ หรือสภาเดี่ยว



นอกจากนี้ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา เป็นห่วงว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เสนอมานั้น อาจทำให้เกิดแนวคิดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะเห็นว่า มาจาก 4 ก. คือ เกลียด ส.ว.ที่อ้างว่าเป็นเครือข่ายประยุทธ์ มาจากตรรกะความโกรธ ความกลัวว่ายุทธศาสตณ์ชาติ 20 ปีะจเป็นโซ่ตรวนผูกมัด และเกินลงกา ที่มุ่งล้มลางมรดกรัฐประหารที่มากเกินไป และหากนักการเมืองดีก็จะไม่มีรัฐประหาร จึงไม่สามารถรับหลักการร่างฉบับนี้ได้


ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายอย่างเข้มข้มว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิวัติ ที่มุ่งรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ สภาผู้แทนราษฏร และบั่นทอนการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจโดยศาลและองค์กรอิสระ ที่อาจเรียกได้ว่า over Rule หรือไม่ ทั้งการเซ็ตซีโร่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งหมดแล้วให้ สภาผู้แทนราษฏรเลือก รวมถึงการถอดถอนประธาน 3 ศาล ที่ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน


จาการอภิปรายของ ส.ว.ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย แม้นายมณเฑียร บุญตัน จะพิจารณาว่าอาจรับหลักการในวาระที่ 1 แต่ยังมีหลายประเด็นที่ไม่ชัดเจน


ส่วน ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่อภิปรายสนับสนุนรับหลักการในวาระที่ 1 และอยากให้พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.อย่างน้อย 84 เสียง ไตร่ตรองด้วยวิจารณญาณ เพื่อช่วยลดวิกฤตทางการเมือง


ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้านต่างอภิปรายรับหลักการ โดยเฉพาะการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ย้ำว่าเป็นร่างที่จะสถาปนาให้อำนาจของประชาชนเป็นอำนาจสูงสุด และหยุดประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่มองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นไม้ประดับ


ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ มีนายวีระกร คำประกอบ และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนายชินวรณ์ บุญเกียรติ และนายสาธิต วงศ์หนองเตย อภิปรายไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น และต้องติดตามท่าทีว่าจะลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 หรือไม่


คุณอาจสนใจ

Related News