ไทยตอบคำถามโลก ปมใช้กฎหมายละเมิด "สิทธิมนุษยชน" แจงผ่านเวที UPR

สังคม

ไทยตอบคำถามโลก ปมใช้กฎหมายละเมิด "สิทธิมนุษยชน" แจงผ่านเวที UPR

โดย pattraporn_a

10 พ.ย. 2564

65 views

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล จัดเวทีรีวิวสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย พร้อมกับการติดตามการรายงานสถานการณ์ของไทย ในเวที UPR ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่มีขึ้นในวันนี้ แม้ไทยจะย้ำเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แต่หลายองค์กรห่วงการใช้กฏหมายในสถานการณ์การชุมนุมที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น


นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยนำเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รอบที่ 3 ภายใต้กลไก Universal Periodic Review หรือ UPR ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 พฤศจิกายน โดยไทยได้เสนอความคืบหน้าในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน


เช่น ระบบสุขภาพจากการแก้ปัญหาโควิด-19 การแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิเด็ก การให้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตฟรีในโรงเรียน การเรียนออนไลน์ การจัดสรรงบประมาณที่สมดุลทางเพศสภาพ การคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง การคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ การช่วยเหลือผู้บอบบางแรงงานข้ามชาติ รวมถึงการผ่านกฏหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย เป็นกระบวนการที่จะเคารพสิทธิ และปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน


ซึ่งตามกระบวนการมีประเทศต่างๆสอบถาม ประเด็นสำคัญ เช่น การอุ้มหาย การใช้ พรก.ฉุกเฉินกับการแสดงออกทางการเมือง และสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และความสัมพันธ์ระหว่าง สันติภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน


โดยรัฐบาลไทย มีเวลา 48 ชั่วโมง ในการตอบแบบไม่เป็นทางการว่าจะรับข้อเสนอแนะจากประเทศใดบ้าง เรื่องใดบ้าง หรือจัดเป็น Take Note หรือไม่ตอบรับ และมีเวลาพิจารณาอย่างน้อย 2 เดือน ในการตอบรับอย่างเป็นทางการ


ในเวทีจับตา ฟังเสียงโลก แล้วร่วมปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่จัดโดยแอมเนสต้ประเทศไทย และองค์กรเครือข่าย มี ศาสตรจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ เห็นว่า ข้อเสนอแนะของประเทศต่างๆเป็นสิ่งที่ไทยต้องปฏิรูปให้ดีขึ้น แม้จะมีสิทธิรับหรือไม่รับ แต่แสดงให้เห็นว่าประชาคมโลกติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย


ซึ่งในการรีวิว ผ่านองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เช่นนางอังคณา นีละไพจิตร ยังห่วงการพิจารณาร่างกฏหมายป้องกันการซ้อมทรมานและบุคคลสูญหาย ที่ยังมีหลายประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน รวมถึงการใช้ พรก.ฉุกเฉิน และ การดำเนินคดีทางการเมือง ที่ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน พบว่า ในช่วง 1 ปี 7 เดือน มีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้ว 1,636 คดี มีมากสุดในคดี พรก.ฉุกเฉินที่ใช้สำหรับโควิด แต่ผู้ถูกชุมนุมทางการเมืองถูกจับกุมมากสุด โดยเฉพาะ มาตรา 112 มีถูกดำเนินคดีไปแล้ว 159 คดี ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จึงมีความห่วงใยต่อการบังคับใช้กฏหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพมากขึ้น

คุณอาจสนใจ

Related News