ศาลมีมติ "รุ้ง-ไมค์-อานนท์" ล้มล้างการปกครองฯ มวลชนยืนหยัด "การปฏิรูป ไม่เท่ากับ ล้มล้าง"

เลือกตั้งและการเมือง

ศาลมีมติ "รุ้ง-ไมค์-อานนท์" ล้มล้างการปกครองฯ มวลชนยืนหยัด "การปฏิรูป ไม่เท่ากับ ล้มล้าง"

โดย pattraporn_a

10 พ.ย. 2564

50 views

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติโดยเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า การกระทำของนายอานนท์ นำภา , นายภาณุพงศ์ จาดนอก และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ผู้ถูกร้องและกลุ่มองค์กรเครือข่ายยกเลิกการกระทำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย


นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หนึ่งในผู้ถูกร้อง มานั่งฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมกับประชาชนบริเวณด้านหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ หลังตัดสินใจ walk out เดินออกจากห้องพิจารณาคดี พร้อมกับทนายความ ที่ได้รับมอบหมายจากนายอานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1 หลังศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้องขอไต่สวนเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมที่จะชี้แจงข้อกล่าวหา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญยืนยันว่าได้ไต่สวนหลักฐานที่มีอยู่สมบูรณ์แล้ว


ทำให้ศาลเริ่มอ่านคำวินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติโดยเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า การกระทำของนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ผู้ถูกร้องและกลุ่มองค์กรเครือข่ายยกเลิกการกระทำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย


โดยศาลเห็นว่า ผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน มีการกระทำติดต่อกันหลายครั้ง ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม ถึง 10 สิงหาคม ที่มีการอภิปรายเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ประการ ซึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า พระมหากษัตริย์ กับ ชาติไทยดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกัน นับแต่อดีตถึงปัจจุบันและดำรงอยู่ด้วยกันไปในอนาคตเพื่อดำรงความเป็นไทยไว้ ผู้ใดจะละเมิดมิได้


การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 คนนั้นเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง มีการใช้ถ้อยคำหยาบคายและยังไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่าง เป็นตัวอย่างให้บุคคลอื่นกระทำและยังทำเป็นขบวนการ ซึ่งพบยังมีการกระทำต่อเนื่อง ตามยุทธวิธีเปลี่ยนรูปแบบการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลปราศัย ใช้กลุยุทธ์แบบไม่มีกแกนนำชัดเจน มีลักษณะปลุกระดมใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ ทำลายหลักเสมอภาคและภราดรภาพ นำไปสู่การล้มล้างประชาธิปไตยในที่สุด และเจตานาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลาย


นางสาวปนัสยา ยืนยันว่าข้อเสนอ 10 ข้อในการปฏิรูปฯไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือเจตนาเพื่อล้มล้างการปกครองฯ แต่ต้องการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงสถาบันพระมหากษัตรย์ให้อยู่คู่สังคมไทย แม้จะเคารพในคำวินิจฉัย แต่ไม่อาจยอมรับได้เพราะขาดความชอบด้วยกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่เปิดโอกาสให้คู่กรณีเสนอพยานหลักฐาน และ การสั่งให้องค์กรหรือเครือข่ายหยุดการกระทำในอนาคต อาจสร้างปัญหาการตีความในอนาคต แต่ยืนยันยังเคลื่อนไหวต่อไปรวมถึงการเสนอให้ยกเลิกกฏหมายมาตรา 112


ขณะที่ นายณฐพร โตประยูร ในฐานะผู้ร้อง ขอบคุณศาลและภูมิใจที่ได้ยื่นร้องเรื่องนี้เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเห็นว่าคำร้องและการไต่สวนพยานของศาลครบถ้วนแล้วโดยไม่ต้องไต่สวนเพิ่ม นับจากนี้เป็นหน้าที่ของอัยการต้องพิจารณาว่ามีผู้ใดเข้าข่ายกระทำความผิด รวมถึงให้หยุดการกระทำตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะศาลระบุว่ามีการกระทำเป็นขบวนการ ซึ่งคาดหวังว่าแกนนำผู้ชุมนุมจะกลับมาร่วมมือกันแก้ไขในส่ิงที่ผิด เชื่อว่าสังคมคงให้อภัย


ทางด้าน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ เปิดเผยว่า ตามมาตรา 49 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เลิกการกระทำตามคำร้อง ไม่ใช่สั่งห้ามการกระทำการในอนาคต และห้ามผู้อื่นด้วย จึงเตรียมหารือกับผู้ถูกร้อง ว่าจะพิจารณาในการฟ้องร้องศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อความยุติธรรม


สำหรับการอ่านคำวินิจฉัยวันนี้ มีมวลชนมารอรับฟังท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัย และหลังรับฟังคำวินิจฉัยมีการจัดกิจกรรมที่ยืนยันว่า การปฏิรูป ไม่เท่ากับ ล้มล้าง 

คุณอาจสนใจ

Related News