ราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาโอดเพิ่งเคยเจอแบบนี้ แนะรัฐแก้ที่โครงสร้างการผลิต

สังคม

ราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาโอดเพิ่งเคยเจอแบบนี้ แนะรัฐแก้ที่โครงสร้างการผลิต

โดย pattraporn_a

5 พ.ย. 2564

61 views

ชาวนาที่ชัยนาท ยอมรับสภาพราคาข้าวตกต่ำ ซ้ำเติมวิกฤติทำนาขาดทุน พร้อมขอให้รัฐบาลช่วยเหลือหากแทรกแซงราคาข้าวไม่ได้ควบคุมต้นทุนการผลิต ขณะประธานยุทธศาสตร์สมาคมชาวนา เสนอรัฐบาลแก้ที่โครงสร้างการผลิต ทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และเมล็ดพันธุ์ดี ที่จะลดต้นทุนได้



ปีนี้ถือเป็นอีกปีที่ชาวนาแทบหลายพื้นที่ วิตกกังวลราคาข้าวเปลือก ที่จะขายให้โรงสี หลังมีประเด็นว่าชาวนาบางคน ขายข้าวได้เฉลี่ยะกิโลละ 5 บาท เป็นราคาข้าวที่ถูกกว่าบะหมี่ สำเร็จรูป 1 ซองด้วยซ้ำ


ทั้งนี้ เจ้าของนาข้าวเจ้า กข.61 ที่ตำบลเสือโฮก อ.เมืองชัยนาท ตัดสินใจจ้างรถเกี่ยวและขนไปโรงสี แม้ต้องเผชิญราคาข้าวที่ตกต่ำในตอนนี้ ด้วยหวังว่าจะส่งขายทัน ราคาที่โรงสีรับซื้อข้าวแบบเกี่ยวสด ตันละ 6 พัน หรือตกกิโลละ 6 บาท ซึ่งจะเป็นรายได้ให้ครอบครัวได้บ้าง



โดย นายสมพงษ์ เมล์พ่วง ชาวนาบ้านเกาะโพธิ์ ตำบลเสือโฮก ปีนี้ปลูกข้าว กข.41 บนที่นา 40 ไร่ เขาสะท้อนว่าเคยเห็นข้าวเกวียนละ 2,400 เมื่อกว่า 10 ปีก่อน และหลังจากนั้นก็ไม่เคยเห็นว่าราคาข้าวจะตกต่ำถึงขนาดตันละ 5พัน หรือกิโลละ 5 บาท แต่นอกเหนือจากราคาข้าวที่ต่ำ ก็เสนอให้รัฐเร่งแก้ปัญหาราคาปุ๋ย ที่เพิ่มขึ้นแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะเป็นต้นทุนที่ชาวนาเลี่ยงไม่ได้


นายสมพงษ์ เล่าว่า ต้นทุนผลิตข้าวมีตั้งแต่ค่าน้ำมันสูบน้ำเข้านาเฉลี่ยะ 10 ไร่ ใช้เงินถึง 12,000 บาท ที่เหลือจากนั้นก็เป็นค่าเตรียมดิน เมล็ดพันธุ์ ยาคุมหญ้า-หนอง แมลง เชื้อรา และปุ๋ย โดยเฉพาะยูเรีย เพิ่มขึ้นเท่าตัว ยังไม่รวมค่ารถเกี่ยวรถบรรทุก หากขายได้ในราคาตันละ 7- 8 พัน ก็ยังพออยู่ได้ หรือหากราคาต่ำกว่านี้ ก็ขอให้ช่วยควบคุมราคาต้นทุนให้ชาวนาด้วย


ทางด้าน นายสานิตย์ จิตต์นุพงศ์ ประธานยุทธศาสตร์ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ยอมรับว่าข้าวที่ขายกิโลละ 5 บาท มีอยู่จริงแต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่ของข้าวตอนนี้ เพราะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ข้าว ที่ปลูกด้วยว่า เป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่ามีราคาข้าวกิโลละ 6-7 บาทด้วย ซึ่งราคาที่ไม่สูงเกินไป ช่วยให้การส่งออกข้าวกระเตื้องขึ้น แต่รัฐบาลต้องแก้ปัญหา ต้นทุนการผลิต



โดยหนึ่งในข้อเสนอสำคัญจากสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย คือการปรับโครงสร้างพื้นฐานการผลิต การบริหารน้ำทั้งแล้งและท่วม , เมล็ดพันธุุ์ที่มีคุณภาพ และการประกันความ เสียหายจากน้ำท่วม



คุณอาจสนใจ

Related News