ทอท.เผย 6 สนามบิน พร้อมรับ นทท. 1 พ.ย.นี้ - กลุ่มผู้ประกอบการ จี้ยกเลิก SHA+

สังคม

ทอท.เผย 6 สนามบิน พร้อมรับ นทท. 1 พ.ย.นี้ - กลุ่มผู้ประกอบการ จี้ยกเลิก SHA+

โดย passamon_a

30 ต.ค. 2564

125 views

วันที่ 29 ต.ค.64 นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยภายหลังตรวจความพร้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ว่า ขณะนี้ท่าอากาศยานของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง มีความพร้อมที่จะให้บริการรองรับการเปิดประเทศแล้ว


โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ มีสายการบินแจ้งทำการบินเที่ยวบินพาณิชย์มาประมาณ 440 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินภายในประเทศ 230 เที่ยวบิน เที่ยวบินระหว่างประเทศ 110 เที่ยวบิน และเที่ยวบินขนส่งสินค้า 100 เที่ยวบิน คาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางผ่าน ทสภ. ประมาณ 3 หมื่นคน แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 2.3 หมื่นคน และระหว่างประเทศ 7 พันคน


การให้บริการของสนามบินจะเปลี่ยนไปจากช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยจะเน้นรูปแบบนิวนอร์มอล ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อลดการสัมผัส อาทิ เครื่องคีออส สำหรับเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ 196 เครื่อง และเครื่องคีออสรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ 42 เครื่อง ซึ่งติดตั้งกระจายอยู่บริเวณแถวเช็กอินตั้งแต่ Row B ถึง Row U ชั้น 4 อาคารผู้โดยสาร ทสภ.


และในอนาคตมีแผนนำระบบจดจำใบหน้า (ไบโอเมทริกซ์) มาใช้ตรวจสอบตัวตนผู้โดยสารด้วย ขณะเดียวกันในเดือน พ.ย.นี้ จะเปิดให้ใช้แอปพลิเคชั่น สวัสดี บาย เอโอที (SAWASDEE by AOT)​ ซึ่งจะมีระบบการทำงานที่หลากหลาย ช่วยอำนวยความสะดวกในงานบริการต่าง ๆ ให้ผู้โดยสาร


นายนิตินัย กล่าวว่า ก่อนเกิดโควิด-19 ท่าอากาศยาน 6 แห่งของ ทอท. ได้แก่ ทสภ. ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมประมาณ 142 ล้านคน ซึ่งการเปิดประเทศเดือนพฤศจิกา​ยนนี้ คาดว่าจำนวนเที่ยวบิน และผู้โดยสารคงยังไม่ได้กลับมาในทันที และมีจำนวนไม่มาก เพราะการจองตั๋วส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะจองล่วงหน้าใช้ระยะเวลาเป็นเดือน


ต้องขอบคุณรัฐบาลที่เปิดประเทศในเดือนพฤศจิกา​ยนนี้ ถือเป็นเดือนที่เหมาะสม หวังว่าจะกลับมามากขึ้นทันในช่วงเทศกาลปีใหม่ (ธันวาคม 2564-มกราคม 2565) และคาดว่าปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564-กันยายน 2565) ท่าอากาศยาน 6 แห่งของ ทอท. จะมีผู้โดยสารรวมกว่า 60 ล้านคน ขณะที่ปีงบฯ 2566 (ตุลาคม 2565-กันยายน 2566) ผู้โดยสารจะทยอยกลับมาสู่ปกติเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19


ขณะที่ วันที่ 29 ต.ค.64 ที่ จ.ภูเก็ต กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจาก SHA+ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวขนาดย่อม โดยเฉพาะโรงแรมที่พักและรถโดยสารส่วนบุคคล จำนวนประมาณ 100 คน รวมตัวกันบริเวณสวน 72 พรรษามหาราชินี หรือลานมังกร พร้อมด้วยป้ายข้อความต่าง ๆ อาทิ ปัญหา SHA+ ทำให้พวกเราเดือดร้อน, SHA plus คือฆาตกรเลือดเย็น เป็นต้น เพื่อเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกเลิกการทำ SHA+ เนื่องจากมีความไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายเล็ก


ก่อนจะได้เดินทางไปยังสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูเก็ต เพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และนางสาวนันทศิริ รณศิริ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานภูเก็ต เป็นผู้รับหนังสือ บรรยากาศเป็นไปด้วยเรียบร้อย แต่เนื่องจากไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงได้ให้ผู้เดือดร้อนส่งตัวแทนเข้าพูดคุย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต


นางสาวทิพสุคนธ์ ทองตัน หนึ่งในผู้ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า เนื่องจากในวันที่ 1 พ.ย.นี้ รัฐบาลได้ประกาศเปิดประเทศโดยไม่ต้องกักตัว ทำให้ผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ตมีความหวังในการสร้างรายได้หลังจากที่ไม่มีรายได้มาประมาณ 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ในความเป็นจริงผู้ประกอบการท่องเที่ยวขนาดย่อม โดยเฉพาะโรงแรมที่พัก และรถโดยสารส่วนบุคคล ไม่สามารถที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ เนื่องจากต้องมีมาตรฐาน SHA+ คือมาตรฐาน SHA และบวกด้วยพนักงานฉีดวัคซีนเกิน 70% ก็สามารถสมัครเข้าร่วมมาตรฐานดังกล่าวได้


แต่ในความเป็นจริงแล้วการเข้าถึงมาตรฐานเหล่านี้ยากมาก เนื่องจากไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนในการสอบถามและติดตามผล ทำให้เกิดความล่าช้าในการขอ SHA plus ก่อให้เกิดการสูญเสียโอกาสในการทำมาหากิน หารายได้, การสมัครผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเดียว โดยมีขั้นตอนและวิธีการซับซ้อนมาก ผู้ประกอบการที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการใช้ระบบ ไม่สามารถเข้าถึงการสมัครได้ และไม่มีบุคลากรให้ติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือในการสมัคร, การอนุมัติใช้เวลานาน โดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่มีการชี้แจงเหตุผลของความล่าช้า รวมทั้งมีการนำเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขเข้ามาผูกกับการพิจารณา SHA plus เพื่อจำกัดสิทธิและโอกาสในการให้บริการลูกค้าอย่างมีนัยยะแอบแฝง ซึ่งอุปสรรคดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมาก สูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ และทำให้เกิดผลกระทบต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตโดยรวม


นอกจากนี้การบังคับนักท่องเที่ยวให้ใช้บริการ SHA plus ในบางธุรกิจ เช่น โรงแรม, รถรับแขกจากสนามบิน ในขณะที่สถานที่ และกิจการทั่วไป อื่น ๆ ที่ลูกค้าต้องไปใช้บริการ ไม่ถูกจำกัด เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน และอื่น ๆ ถือเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำ ในสังคม และเศรษฐกิจ


ประกอบกับในสถานการณ์ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ต มีการฉีดวัคซีน 2 เข็มเกิน 70% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นทางกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจึงเห็นว่าไม่ควรมีการใช้มาตรฐาน SHA+ อีกต่อไป เพราะเป็นการกีดกันทางการค้าทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ แต่ทางกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบยังคงสนับสนุนมาตรฐาน SHA และ PHUKET SANDBOX ต่อไป


ด้านนายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จากเกณฑ์การรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พ.ย.นี้ กลุ่มนี้บางส่วนไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายโรงแรม ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของชาร์พลัส คือ จะต้องเป็นโรงแรมที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายโรงแรม, ได้รับ SHA จาก ททท. มาก่อน และพนักงานต้องได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย ร้อยละ 70 แต่ได้ชี้แจงไปแล้วว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นั้น นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะต้องพักในโรงแรมที่มีชาร์พลัสเพียง 1 คืนเท่านั้น ส่วนเหลือสามารถเลือกพักในที่พักอื่น ๆ ได้ แต่ผู้ประกอบการต้องการให้ยกเลิกชาร์พลัสไปเลย เนื่องจากคนภูเก็ตฉีดวัคซีนแล้วกว่าร้อยละ 70 โดยจะได้พูดคุยกับหน่วยเหนือที่รับผิดชอบพิจารณาแก้ไขต่อไป


ชมผ่าน YouTube ได้ที่นี่ : https://youtu.be/Jm0ma5au9Nk

คุณอาจสนใจ

Related News