ฟาร์มเพาะบอนสี วอนสนับสนุนของไทย เล็งแก้ กม.เอาผิดผู้ลักลอบ หวั่นนำเข้าศัตรูพืช-เชื้อโรค

เศรษฐกิจ

ฟาร์มเพาะบอนสี วอนสนับสนุนของไทย เล็งแก้ กม.เอาผิดผู้ลักลอบ หวั่นนำเข้าศัตรูพืช-เชื้อโรค

โดย thichaphat_d

29 ต.ค. 2564

281 views

รายงานข่าวจาก กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากกระแสความนิยมพืชใบด่าง ในประเทศไทยมีสูงขึ้น ราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลให้มีการนำเข้าพืชประเภทไม้ด่าง โดยเฉพาะบอนสี จากประเทศจีน และใบพืชอื่นๆ จากสหรัฐอเมริกา เมียนมาและเวียดนาม เข้ามาจำนวนมาก


ช่วงเกือบ 10 เดือนแรกของปี 2564 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบ 200% หรือประมาณ 5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 ทั้งปี มีการนำเข้ามาประมาณ 1 ล้านบาทกว่า ๆ ยังไม่รวมการลักลอบนำเข้าตามตะเข็บชายแดนจำนวนมาก โดยเฉพาะพืชที่ต้องห้าม


ทั้งนี้ ในช่วงที่คนไทยมีความนิยมพืชใบด่าง ก็มีการลักลอบนำผ่านชายแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก อย่างกล้วยด่างอินโด มีราคาสูงถึงล้านบาท จึงเกิดแก๊งลักลอบนำเข้า ยอมเสี่ยงเพราะกฎหมายของกรมวิชาการเกษตร ไม่ได้มีโทษปรับหรือจำคุก สำหรับการนำเข้าพืชต้องห้าม แค่ยึดพืชเหล่านั้นไว้เพื่อทำลาย หรือส่งคืนประเทศต้นทาง


กรมวิชาการเกษตร จึงเตรียมปรับแก้กฎหายเพื่อเอาผิด กับผู้ที่ลักลอบนำเข้าพืชต้องห้าม เพราะอาจเป็นต้นเหตุของแมลงศัตรูพืช หรือเชื้อโรคเข้ามาระบาดเมืองไทย


“บอนสีที่นำเข้ามาจากจีน เป็นพืชสวยงาม เป็นไม้ประดับที่ก่อนหน้านี้ราคาไม่แพง แต่ในเมืองไทยมีการปั่นราคา และบางกลุ่มมีการซื้อเพื่อเก็งกำไร โดยเอาไปขายต่อให้คนที่ชื่นชอบทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น บางต้นมีราคาหลายแสน บางต้นมีราคาเป็นล้าน


ทำให้ยอดการนำเข้าโตขึ้นแบบก้าวกระโดด ไม่รวมตามตะเข็บชายแดน หรือมีการซุกเมล็ดเข้ามาในกระเป๋าเสื้อผ้า หากเป็นพืชใบด่างที่ห้ามนำเข้า อาทิ กล้วยด่าง พิทูเนีย และพริกประดับ หากพบจะมีการจับและยึด ทำลาย สาเหตุที่ห้ามนำเข้ายังไม่ผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช”


สำหรับสถิติ 6 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) กรมวิชาการเกษตร โดยด่านตรวจพืช มีการแจ้งเตือนประเทศผู้ส่งพืชเข้าเมืองไทยจำนวนมาก ซึ่งแจ้งเตือนตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ว่าด้วยมาตรฐานด้านสาธารณสุขอนามัยพืช เรื่องแนวทางปฏิบัติสำหรับการแจ้งเตือน การไม่ปฏิบัติตามและมาตรการฉุกเฉิน ภายใต้อนุสัญญาอารักขาพืชระหว่างประเทศ


โดยสาเหตุที่แจ้งเตือน 6 เดือนพบศัตรูพืชจำนวน 219 ครั้ง แบ่งเป็นผิดเงื่อนไขการนำเข้า 40 ครั้ง พบศัตรูพืชที่ยังไม่มีรายงาน 32 ครั้ง พบดิน และวัสดุปลูก 11 ครั้ง และพบการปนเปื้อนสิ่งมีชีวิต 10 ครั้ง ส่วนผู้ส่งออกที่ถูกกรมวิชาการเกษตรแจ้งเตือนสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 99 ครั้ง เมียนมา 65 ครั้ง เวียดนาม 60 ครั้ง และ จีน 28 ครั้ง


ส่วนสินค้าพืชและส่วนประกอบของพืชที่ตรวจพบศัตรูพืชสูงสุด ได้แก่ ข้าวโพดสัดส่วน 19.80 เปอร์เซ็นต์ กากข้าวโพด สัดส่วน 19.16 เปอร์เซ็นต์ และผลทุเรียนสด 13.41 เปอร์เซ็นต์


ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นายประทีป เจ้าของร้านประทีปบอนสี ซึ่งเป็นฟาร์มเพาะและจำหน่ายบอนสีโดยเฉพาะ เผยว่า ที่มีการลักลอบนำเข้าบอนสีจากต่างประเทศจำนวนมากนั้น เนื่องจากปัจจุบันกระแสบอนสีกำลังได้รับความนิยมมาก ทำให้ราคาบอนสีในไทยปรับราคาขึ้นตามกระแสความนิยม จนได้ชื่อว่า "ราชินีไม้ใบ" จึงมีการนำเข้ามาขายเพื่อทำกำไร เพราะราคาต้นทุนถูกมาก


ทำให้ผู้เพาะพันธุ์บอนสีได้รับผลกระทบ เมื่อบอนสีเพิ่มจำนวนมากขึ้น ราคาตลาดก็จะตกลง บอนสีของไทยในตลาดไม้ประดับราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักแสนหลักล้าน ตามแต่ความสวยงาม ขนาดของลำต้น และสายพันธุ์ ซึ่งมีลูกไม้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา


สำหรับตลาดบอนสีจะมีการพัฒนาพันธุ์ด้วยการนำพ่อแม่พันธุ์ใหม่ๆ มาผสมพันธุ์อยู่เสมอเพื่อให้เกิดไม้ใหม่ มีการพัฒนาพันธุ์ตลอดเวลา และเมื่อได้ลูกไม้ใหม่ออกมาก็จะนำไม้ไปตั้งชื่อและจดทะเบียนที่สมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย เช่น ชายชล ฮกหลง จอมทัพ มัฆวานรังสรรค์ อิเหนา องคุลีมาล เป็นต้น


ทั้งนี้ บอนสีที่นำเข้าจะไม่ค่อยสวยเท่าบอนสีที่เพาะในประเทศไทย คุณภาพของไทยจะดีกว่า สีสันสวยงามกว่า ลวดลายหลากหลายกว่า แต่บางคนก็อาจจะแยกไม่ออกระหว่างบอนสีไทยกับนำเข้า ให้สังเกตง่ายๆจากชื่อ เช่น สตรอว์เบอร์รี บับเบิล เพราะมันไม่มีชื่ออยู่ในสารบบของบอนไทย


ซึ่งตนเห็นด้วยหากจะมีการแก้กฎหมายเพื่อเอาผิดกับผู้ลักลอบนำเข้า เพื่อเป็นการสนับสนุนบอนสีของคนไทยเอง และยังเป็นป้องกันการนำเข้าศัตรูพืช จำพวกแมลงวัน แมลงหวี่ขาว และไส้เดือนฝอย ที่จะมาขยายพันธุ์ในไทย และอาจไปทำลายระบบนิเวศได้


จึงอยากเชิญชวนให้ช่วยกันสนับสนุนบอนสีของไทยมากกว่าบอนสีนำเข้าจากต่างประเทศ ถือว่าเป็นการอนุรักษ์มรดกทางภูมิปัญญาและผลักดันให้บอนไทยไปตีตลาดโลกต่อไป



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/bsTOvepzkyw

คุณอาจสนใจ