แพทย์ไขข้อสงสัย ความปลอดภัยของการฉีดวัคซีน mRNA ในเด็ก 12 ปีขึ้นไป

สังคม

แพทย์ไขข้อสงสัย ความปลอดภัยของการฉีดวัคซีน mRNA ในเด็ก 12 ปีขึ้นไป

โดย pattraporn_a

26 ต.ค. 2564

50 views

แพทย์แนะนำเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ได้ หลังพบผลวิจัยยืนยันความเสี่ยงของผลข้างเคียงจากอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะหายไปในระยะเวลา 3 เดือน ขณะที่ผลข้างเคียงจากโควิด-19 จะส่งผลต่ออาการร่วมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ปอดอักเสบรุนแรงมากกว่าผู้ใหญ่


กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการต่างรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ท่ามกลางข้อสงสัยจากสังคมที่ว่าการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ในเด็กนั้นดีจริงและ อันตรายหรือไม่ วันนี้เครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย หรือ THOHUN ได้ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดเสวนาออนไลน์โดยมีแพทย์เฉพาะทางด้านเด็กและหัวใจเข้าร่วมให้ข้อมูลจากงานวิจัยทั่วโลก เพื่อเป็นความรู้ประกอบการตัดสินใจก่อนการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ในเด็ก


ความเสี่ยงหากเลือกไม่ฉีดวัคซีน กับ ความเสี่ยงจากผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป กลายเป็นประเด็นสำคัญที่แพทย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  และ ด้านโรคหัวใจ ได้ตอบคำถามข้อสงสัยนี้ ในงานเสวนา ความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนในเด็ก จัดโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย หรือ THOHUN และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ


หลักการณ์ 3 R ถูกนำมาใช้อ้างอิงกับการตอบคำถามในครั้งนี้ คือ real หรือ ข้อเท็จจริง ส่วนมากเกิดขึ้นจริงในเด็กผู้ชายอายุ 12-15 ปี หลังฉีดเข็มที่ 2 , Rare หรือ โอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ประมาณ 6 คน ใน 1 แสนคน และ Recovery หรือการรักษา มักมีอาการไม่รุนแรง ซึ่งหายได้เองในระยะเวลาอันสั้น


ขณะที่ปัจจุบันมีวัคซีนชนิด mRNA 2 ยี่ห้อที่หลายประเทศนำมาใช้ฉีดให้กับเด็ก คือ ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา ซึ่งพบว่าให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีทั้งเด็กและผู้ใหญ่


โดย ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ แพทย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ติดเชื้อสะสมกว่า 2 แสนคน อาการส่วนใหญ่ที่พบแม้อาการปอดบอมจะไม่รุนแรงเหมือนในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ก็พบว่ามีภาวะโควิดรุนแรง เช่น อาการท้องเสีย และ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ


งานวิจัยการศึกษาอัตราการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เข็มที่ 2 จากกลุ่มตัวอย่าง 1226 คน ในสหรัฐอเมริกา พบว่า อัตราการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบพบว่าเกิดขึ้นสูงในเพศชาย อายุต่ำกว่า 30 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กผู้ชายอายุต่ำกว่า 18 ปี


ขณะที่ข้อมูลจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปทุกคน ไม่ว่าจะป่วยใน 7 กลุ่มโรคหรือไม่ เข้ารับวัคซีนให้ครบโดส แต่ก็มีข้อเสนอเป็นทางเลือกให้ กลุ่มเด็กชายอายุ 12-16 ปี ที่สุขภาพแข็งแรง เลือกได้ว่าจะรับวัคซีนในเข็มที่ 2 หรือไม่


ด้าน นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ แพทย์โรคหัวใจ ศูนย์เป็นเลิศทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุ หากเปรียบเทียบผลข้างเคียงของวัคซีนที่เกิดขึ้น กับ อาการป่วยรุนแรงในเด็ก จะพบว่า จากการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส แม้จะมีเด็กผู้ชายป่วยเป็นโรคเนื้อหัวใจอักเสบ 56-69 คน แต่ก็ลดอัตราการป่วยรุนแรงกรณีติดเชื้อได้มากเช่นกัน


ซึ่งอาการป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อโควิด-19 ในกรณีที่ไม่ได้รับวัคซีน มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าจากการฉีดวัคซีนถึง 6 เท่า และรักษาให้หายขาดได้ยาก


อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองและนักเรียนสามารถตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ด้วยตัวเอง โดยขณะนี้มีนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไปแจ้งความประสงค์เข้ารับการฉีดวัคซีนราว 3.7 ล้านคน ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 2 ล้านคน คิดเป็นกว่า 50% ขณะที่ทั่วประเทศมีนักเรียนนักศึกษาอายุ 12-18 ปี จำนวนกว่า 5 ล้านคน

คุณอาจสนใจ

Related News