กรมวิทย์ฯ ยันไทยพบ "เดลตาพลัส - อัลฟาพลัส" เฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์ใกล้ชิด

สังคม

กรมวิทย์ฯ ยันไทยพบ "เดลตาพลัส - อัลฟาพลัส" เฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์ใกล้ชิด

โดย pattraporn_a

26 ต.ค. 2564

74 views

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผย พบการกลายพันธุ์เชื้อโควิด-19 เดลต้าพลัส และอัลฟาพลัสในไทย ยัน ยังไม่พบ ความรุนแรงมีผลต่ออาการป่วยหรือการแพร่ระบาด แต่ก็ต้องเฝ้าระวังและติดตามเชื้อกลายพันธุ์ใกล้ชิด


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึง ผลการสุ่มตรวจเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ในไทย จาก 1,000 ตัวอย่าง ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังพบเป็นสายพันธุ์เดลต้า ร้อยละ 98.6 ทำให้ทั่วทุกภูมิภาคของไทยตอนนี้ เป็นการระบาดของเชื้อเดลต้า เป็นหลัก


และพบว่าสายพันธุ์เดิม ทั้งอัลฟา และเดลตา ที่มีการกลายพันธุ์เป็นพลัส จากสายพันธุ์เดิมมาสู่การกลายพันธุ์ย่อย ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติการพัฒนาการของเชื้อโรค


โดยพบการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ อัลฟา พลัส 18 ราย พิกัดอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ 2 ราย ผู้ต้องขัง ซึ่งได้เก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 27 กันยายน และอยู่ระหว่างสอบสวนโรค ส่วนที่ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด 16 ราย เป็นแรงงานต่างด้าวล้งลำไย 12 ราย และคนไทย 4 ราย ซึ่งเป็นผลจากการตรวจสายพันธุ์ 1,119 ตัวอย่าง ช่วงวันที่ 9-10 ตุลาคมที่ผ่านมา มีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อที่ระบาดอยู่ในประเทศกัมพูชา


ส่วนสายพันธุ์ เดลตา พลัส (AY.1) พบ 1 ราย ที่จ.กำแพงเพชร โดยเดินทางมาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา


นพ.ศุภกิจ อธิบายว่า ตำแหน่งที่กลายพันธุ์สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ และจะมีอาการมากกว่าเดิม โดยทั่วโลกมี การกลายพันธุ์เดลต้าพลัส หลายสายพันธุ์ย่อย ตั้งแต่ AY.1 - AY.47 อย่างที่พบในประเทศอังกฤษ คือเดลต้าพลัส AY.4.2 ซึ่งแพร่ระบาดได้เร็วกว่า สายพันธุ์เดลต้าเดิม ร้อยละ 10-15 โดยยังไม่พบการระบาดในไทย


ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยฯสาธารณสุข ย้ำเดินหน้าเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ ต่อไป แม้พบโควิดกลายพันธุ์ ขอประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก กระทรวงสาธารณสุขไม่เคยปกปิดข้อมูล แต่ก็เป็นการตรวจพบ จากระบบการเฝ้าระวังในไทยอยู่แล้ว


ส่วน ศปก.ศบค. คาดว่าจะได้ข้อยุติแนวทางรับมือสายพันธุ์เดลต้าพลัส ในวันพรุ่งนี้ พร้อมมอบหมายหารือเตรียมแผนรับเปิดประเทศ ผ่อนคลายมาตรการด้วย


เฟซบุ๊กของชมรมแพทย์ชนบทได้โพสต์ เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ เดลตาพลัส โดยระบุเป็นข้อๆ ว่าเชื้อนี้กลายพันธุ์ได้ 2 ตำแหน่ง ในโปรตีนส่วนหนาม ซึ่งจะทำให้ไวรัสเข้าแพร่สู่เซลล์เม็ดเลือดมนุษย์ได้ง่ายขึ้น โดยขณะนี้พบในอังกฤษและแคนาดา


พร้อมหยิบยกข้อมูลจาก ผู้อำนวยการสถาบันพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ที่ประเมินว่า AY.4.2อาจแพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง ร้อยละ 10 ขณะที่แพร่เชื้อได้เร็วกว่าเดลตาสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 2 เท่า และว่าไม่จัดอยู่ในสายพันธ์ที่ต้องกังวล เพราะวัคซีนโควิดที่มีอยู่สามารถป้องกันสายพันธุ์ย่อยนี้ได้



ชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/cZ3xVmQJ1es

คุณอาจสนใจ

Related News