ตำรวจ โต้ สภ.ปาย ไม่รับแจ้งความ นทท.ตกน้ำพุร้อน เป็นเฟกนิวส์

สังคม

ตำรวจ โต้ สภ.ปาย ไม่รับแจ้งความ นทท.ตกน้ำพุร้อน เป็นเฟกนิวส์

โดย pattraporn_a

15 ต.ค. 2564

163 views

รองโฆษก ตร. แจงข่าวปลอม ตำรวจปฏิเสธการรับแจ้งความเหตุเด็กต่างชาติพลัดตกบ่อน้ำพุร้อน


วันที่ 15 ตุลาคม 2564 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม เพิ่มเติม 1 กรณี คือ


กรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวในสื่อต่างๆ ประเด็นเรื่อง ตำรวจปฏิเสธการรับแจ้งความ จากเหตุการณ์ที่ชาวต่างชาติพลัดตกบ่อน้ำพุร้อน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ


กรณีที่มีสื่อเผยแพร่ข่าวระบุว่า เด็กชายชาวรัสเซียตกบ่อน้ำร้อนในอําเภอปาย ได้รับบาดเจ็บสาหัส และมารดาของเด็กแจ้งต่อสื่อว่า ตํารวจไทยไม่รับแจ้งความนั้น ทางกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงว่า


ภายหลังได้รับทราบว่ามีสื่อลงข่าวดังกล่าว สภ.ปาย ได้ทำการตรวจสอบไปยังโรงพยาบาลปาย ทราบว่ามีเด็กชายชาวรัสเซียถูกนําส่งโรงพยาบาลโดยได้รับบาดเจ็บถูกน้ำร้อนลวกที่ร่างกาย โดยมารดาเป็นผู้นํามาส่งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 เวลา 12.32 น. ทางโรงพยาบาลแจ้งว่าได้ทำการรักษาพยาบาลเบื้องต้น แต่เนื่องจากเด็กมีอาการหนัก จะต้องส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพในจังหวัดเชียงใหม่


จากนั้นจึงได้รีบนําตัวเด็กชายดังกล่าวส่งไปโรงพยาบาลเชียงใหม่-ราม โดยทันทีโดยรถพยาบาลของโรงพยาบาลปายพร้อมกับมารดาของเด็ก โดยที่เกิดเหตุเป็นโป่งน้ำร้อนเหมืองแร่ เมืองแปง บ้านสบสา หมู่ที่ 2 ต.เมืองแปง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน


ทาง สภ.ปาย จึงได้ตรวจสอบกับพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ทุกนายที่ปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างวันที่ 4 ตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน ได้ยืนยันว่าไม่มีผู้ใดมาแจ้งความในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อตรวจสอบวันดังกล่าวมี พ.ต.ต.ธงธรรศ ริยะ เป็นพนักงานสอบสวนเวร ก็ยืนยันว่าไม่มีผู้ใดมาแจ้งเรื่องดังกล่าว และได้ทําการตรวจสอบบันทึกประจําวันก็ไม่พบว่ามีผู้ใดมาแจ้งความไว้แต่อย่างใด ประกอบกับได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดภายในสถานีตํารวจ ในวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ไม่พบว่ามีชาวต่างชาติมาใช้บริการแต่อย่างใด


โดยหากมีชาวต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นนักท่องเที่ยวมาติดต่อขอความช่วยเหลือหรือแจ้งความไม่ว่ากรณีใด ทาง สภ.ปาย จะให้ความสําคัญ โดยจะประสานไปยังตํารวจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพื่อจัดหาล่ามและเป็นผู้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความช่วยเหลือในฐานะนักท่องเที่ยวทุกครั้ง


แต่กรณีดังกล่าวตรวจสอบแล้วไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งความแต่อย่างใด จึงได้ตรวจไปยังสถานที่เกิดเหตุพบว่าเป็นบ่อน้ำร้อนซึ่งอยู่บริเวณริมถนนที่มีรถสัญจรผ่านไปมา มีน้ำร้อนผุดจากใต้พื้นดิน ผู้คนสามารถเข้าไปชมได้ ไม่มีการคิดค่าบริการและไม่มีผู้ดูแล มีป้ายเตือนพื้นที่ อันตรายห้ามลงเล่น Danger แต่ไม่มีไม้กั้น จุดที่พลัดตกไม่ทราบว่าเป็นบริเวณใด แต่พื้นที่ดังกล่าวมี อุณหภูมิสูงหากโดนน้ำร้อนก็จะเป็นอันตรายได้


จากการตรวจสอบทราบว่า นางอิลิน่า แม่ของเด็ก ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวผ่านล่ามว่า ตนเองพร้อมสามีและลูกชายได้เดินทางมาจากพัทยาเพื่อมาเที่ยวภาคเหนือโดยลงเครื่องที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา จากนั้นได้เช่ารถไปเที่ยวที่อําเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ระหว่างทางได้แวะน้ำพุร้อนและถ่ายรูป ซึ่งลูกชายได้พลัดตกลงไปในบ่อน้ำร้อนประมาณ 5 วินาที เธอจึงได้รีบนําตัวลูกชายไปรักษาที่โรงพยาบาลปาย


ซึ่งโรงพยาบาลปายไม่สามารถรักษาอาการได้ จึงส่งมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลเชียงใหม่-ราม ซึ่งขณะนั้นร่างกายของลูกชายผิวหนังพุพองเริ่มยุ่ยหมดแล้ว เมื่อมาถึงโรงพยาลบาลเชียงใหม่-ราม แพทย์ต้องเร่งทําการรักษา ซึ่งลูกชายมีอาการโดนน้ำร้อนลวกตั้งแต่บริเวณท้อง แขน ขา ต้องทําการผ่าตัดถึง 3 ครั้ง จนล่าสุดพ้นขีดอันตรายแล้ว แต่ยังต้องรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู


ปัญหาที่กังวลคือเรื่องค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากไม่ได้ทําประกันไว้ ซึ่งในเบื้องต้น ตํารวจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้าไปพูดคุยและช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว ประกอบกับกระทรวงท่องเที่ยว และกีฬาจังหวัดเชียงใหม่อยู่ระหว่างการพิจารณาในเรื่องของกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวในเรื่องของการรักษาพยาบาลต่อไป ซึ่งปัจจุบันเด็กได้ถูกนํารักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่


อนึ่ง กรณีที่เกิดขึ้น ทางสภ.ปาย ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประสานไปยัง อบต.เมืองแปง ให้จัดทำป้ายเตือนเพิ่มเติม เพื่อมิให้เกิดเหตุซ้ำอีก พร้อมทั้งกําชับให้เจ้าหน้าที่ตํารวจของ สภ.ปาย ทุกนาย ใส่ใจ ให้ความสําคัญแก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ บริการและให้คําแนะนําช่วยเหลือหากมีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือขอให้ช่วยเหลือทุกเรื่องทุกกรณี ให้รู้สึกถึงความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน และท่องเที่ยว อย่างมีความสุข ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ เข้ามาช่วยเหลือดําเนินการได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและเป็นธรรม


ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.royalthaipolice.go.th หรือโทร 1599


บทสรุปของเรื่องนี้ : ระหว่างวันที่ 4 ตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน ไม่มีผู้ใดมาแจ้งความในเรื่องดังกล่าว และได้ทําการตรวจสอบบันทึกประจําวันก็ไม่พบว่ามีผู้ใดมาแจ้งความไว้แต่อย่างใด ประกอบกับได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดภายในสถานีตํารวจ ในวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ก็ไม่พบว่ามีชาวต่างชาติมาใช้บริการแต่อย่างใด


รองโฆษกตรป กล่าวว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป




คุณอาจสนใจ