สำรวจชีวิตชาวบ้าน อ.สรรพยา ชัยนาท หลังน้ำเจ้าพระยาทะลัก ต้องขนของนอนริมถนน ไม่รู้ชะตากรรม

สังคม

สำรวจชีวิตชาวบ้าน อ.สรรพยา ชัยนาท หลังน้ำเจ้าพระยาทะลัก ต้องขนของนอนริมถนน ไม่รู้ชะตากรรม

โดย panwilai_c

2 ต.ค. 2564

61 views

จากกรณีเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มระบายน้ำลดลง หลังสถานการณ์น้ำเหนือเริ่มดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าติดตามปริมาณน้ำในอีก 1-2 สัปดาห์นี้ คาดว่าหากไม่มีฝนตกมาก สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะคลี่คลาย ภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ ขณะที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดชัยนาท ยืนยันว่ารัฐบาลจะเร่งรัดมาตรการเยียวยา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกพื้นที่อย่างเร่งด่วน


ชาวบ้านหาดอาษา ตำบลหาดอาษา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ต้องหนีน้ำมานอนเต็นท์บนถนน ทุกครั้งที่มีน้ำท่วม แม้จะเป็นวิถีชีวิตที่เคยชิน แต่ที่นี่ไม่มีน้ำท่วมมา 10 ปีแล้วนับจากปี 2554 และมวลน้ำเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว แม้จะมีการประกาศแจ้งเตือน แต่ส่วนใหญ่ไม่คิดว่าน้ำจะท่วมสูง จึงขนของหนีน้ำไม่ทัน สิ่งที่จะนำมามากที่สุดคืออุปกรณ์ทำมาหากิน




ทีมข่าวได่พูดคุยกับผู้ประสบภัยรายหนึ่ง ที่ต้องนำหม้อนึ่งข้าวเหนียวมาด้วย เพราะจะได้ขายหมูปิ้ง แม้เต็นท์จะไม่แข็งแรง แต่ก็พออยู่ได้ ขณะที่ร้านขายของชำ ต้องขนของมาตั้งร้านบนถนน เพราะคาดว่าน้ำจะท่วมไม่ต่ำกว่า 1 เดือน


จากระดับน้ำที่ท่วมประมาณ 1 เมตร ถือว่ายังต่ำกว่าระดับน้ำในปี 2554 อยู่อีกกว่า 1 เมตร แต่สำหรับผู้ประสบภัยแล้ว การต้องอยู่ในภาวะน้ำท่วมยาวนาน เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น


ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลหาดอาษา นำทีมข่าวพายเรือไปดูสภาพน้ำท่วม บ้านเรือนที่นี่ส่วนใหญ่เป็น 2 ชั้น เพราะอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา จึงพออาศัยอยู่ชั้น 2 ได้ และก่อนน้ำท่วมมีการนำกระสอบทรายมาสร้างพนังกั้นน้ำแล้ว แต่น้ำขึ้นอย่างรวดเร็ว


ส่วนหนึ่งชาวบ้านยอมรับว่าต้องกลายเป็นพื้นที่รับน้ำ ทั้งในพื้นที่ตำบลโพนางดำออก ตำบลหาดอาษา และตำบลตลุก เนื่องจากมีการสร้างพนังกั้นน้ำในฝั่งตรงข้าม และอยากให้มีการระบายน้ำเจ้าพระยาไปทางแม่น้ำท่าจีนบ้าง


นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ส.ส.จังหวัดชัยนาท ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัยทั้งสามตำบล และร่วมกับชาวบ้านตำบลตลุก บรรจุกระสอบทรายเพื่อทำพนังกั้นน้ำไม่ให้เข้าท่วมวัดอินทราราม และบ้านเรือนประชาชน ซึ่งหากเขื่อนเจ้าพระยา ไม่ปล่อยน้ำไปมากกว่านี้ ก็เชื่อว่าจะกั้นน้ำได้ เพราะระดับน้ำยังน้อยกว่าในปี 2554




และจากการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบริหารจัดการน้ำ เชื่อว่าหากไม่มีฝนตกหนักมาเพิ่ม สถานการณ์น้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะคลี่คลายภายครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือนนี้ และขณะนี้สำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมการในการเยียวยาผู้ประสบภัยตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานต่างๆรวมถึงเงินเยียวยาจากกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำนักนายกรัฐมนตรีด้วย


ในขณะที่เขื่อนเจ้าพระยายังคงระบายน้ำในอัตรา 2,784 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และแนวโน้มจะเริ่มลดลงจากปริมาณน้ำเหนือที่เริ่มลดลง แต่จากระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ c2 จังหวัดนครสวรรค์ยังอยู่ในอัตราประมาณ 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และแม่น้ำสะแกกรัง ที่ไหลลงเจ้าพระยาประมาณ 400 วินาที ทำให้เขื่อนเจ้าพระยาต้องระบายน้ำในอัตราที่ไม่เกิน 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเนื่องจากยังมีน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงมาอีก ทำให้คาดว่าสถานการร์น้ำจะทรงตัวไปอีก 1-2 อาทิตย์ และต้องควบคุมไม่ให้ระดับน้ำที่สถานี c29 เอ ที่อำเภอบางไทร ไหลเกิน 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที


ส่วนการบริหารน้ำไปสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนริมน้ำเจ้าพระยาที่น้ำท่วม ทั้งจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สำนักชลประทานที่ 12 ได้ระบายลงพื้นที่แก้มลิงแล้ว 80-90% ส่วนที่ยังไม่ระบายไปทางแม่น้ำท่าจีนมากเพราะมีฝนตกในพื้นที่อยู่มากด้วย แต่หากฝนไม่ตกลงมาเพิ่มทางเหนือ คาดว่ามวลน้ำก้อนนี้จะคลี่คลายภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ก็ยังคงต้องติดตามว่าจะมีพายุในเดือนตุลาคมตกในพื้นที่ใดบ้าง เพราะน้ำท่วมรอบนี้มาจากอิทธิพลพายุที่ทำให้มีฝนมากในบางพื้นที่จนกระทบกับลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำเจ้าพระยา

คุณอาจสนใจ